คนคุณภาพ
ทุกวันนี้ผู้บริหารทุกคนต่างต้องการ “พนักงานที่มีคุณภาพ” หรือ “คนที่มีคุณภาพ” คอยช่วยงานอยู่ข้างตัว และหลายต่อหลายครั้งที่ผู้บริหารโยนบาปให้กับการขาด “คนคุณภาพ” จึงทำให้งานล้มเหลวหรือไม่ได้ผล
ทุกวันนี้ผู้บริหารทุกคนต่างต้องการ “พนักงานที่มีคุณภาพ” หรือ “คนที่มีคุณภาพ” คอยช่วยงานอยู่ข้างตัว และหลายต่อหลายครั้งที่ผู้บริหารโยนบาปให้กับการขาด “คนคุณภาพ” จึงทำให้งานล้มเหลวหรือไม่ได้ผล
“คนคุณภาพ” ที่ว่านี้ จึงไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด สมบูรณ์แบบที่สุด ทำงานเก่งที่สุด หรือดีที่สุด แต่ “คนคุณภาพ” ในทัศนะของผม จะต้องเป็นคนที่ทำงานเต็มที่บนศักยภาพของตนเอง คือ ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่อย่างเต็มที่ในการทำงานใดๆ จนทำให้เกิด “ผลสัมฤทธิ์” หรือ “ผลสำเร็จ” จากผลการกระทำหรือความพยายามที่ลงทุนลงแรงไป
ดังนั้น ถ้าจะเอาทั้งด้านวิชาการและด้านประสบการณ์มาพูดกันแล้ว “คนที่มีคุณภาพ” หรือ “คนคุณภาพ” ในทัศนะของผม จะต้องเป็นคนที่มีองค์ประกอบครบถ้วน 3 ประการ ดังต่อไปนี้
คุณสมบัติประการแรกของคนคุณภาพ คือ คนที่ทำงานได้ตามมาตรฐานหรือเป้าหมายที่กำหนด เพราะมีคุณสมบัติที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ตั้งไว้
อาทิ คนที่จะออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นได้ ก็ควรจะจบมาทางด้าน Fashion Designer คนที่จะทำหน้าที่ผู้ตรวจสอบภายในได้ดี ก็ควรจะจบทางด้านบัญชีหรือการเงิน คนที่จะออกแบบโครงสร้างอาคารได้อย่างมั่นคงและแข็งแรง ก็ควรจะจบทางวิศวกรรม เป็นต้น
การที่ใครคนใดคนหนึ่งทำได้ตามมาตรฐานที่กำหนดทุกครั้ง หรือทำได้ผลเหมือนๆ กันทุกครั้ง จนผู้คนสามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ได้ล่วงหน้า เขาเรียกคนนั้นว่า “มืออาชีพ”
ดังนั้น คำว่า “คุณภาพ” จึงมักเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับคำว่า “มาตรฐาน” และ “มืออาชีพ” และเป็นคำที่มีความหมายในเชิงบวกเสมอ คือ “คุณภาพ” ทำให้เราคิดถึงแง่มุมที่ดีหรือแง่มุมที่มีค่าสูง เช่น สินค้าคุณภาพ ก็คือ สินค้าที่ใช้งานได้ทนทาน เป็นต้น
คุณสมบัติประการที่สองของคนคุณภาพ คือ คนที่มีความสามารถในการทำงานให้เป็นที่ยอมรับของผู้คน และสามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ประชาชน และหรือผู้บังคับบัญชาได้
ความมีคุณภาพหรือไม่จะถูกประเมินหรือตัดสินโดยลูกค้าหรือบุคคลที่สามเสมอ คือ การทำงานมักจะต้องการผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า สอดคล้องกับผลสัมฤทธิ์ที่ผู้บังคับบัญชาหรือองค์กรต้องการ เพราะคนเหล่านั้นจะเป็นคนบอกเราว่า “งานดี หรือไม่ดี”
คนคุณภาพจึงไม่ใช่บุคคลประเภทที่ทำงานเรื่อยไปโดยไม่รู้เป้าหมายหรือไม่รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ผู้บังคับบัญชาต้องการอะไร คนที่มีคุณภาพจะต้องทำงานให้ได้ผลลัพธ์ที่สร้างความพอใจหรือประทับใจให้กับผู้ใช้ผลงานนั้น
คุณสมบัติประการที่สามของคนคุณภาพ ก็คือ คนที่มีความมุ่งมั่นในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องด้วยการเรียนรู้เร็ว สภาพแวดล้อมที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิด วิธีการทำงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
การทำงานแบบเดิมๆ ที่ทำกันอยู่ก็จะเกิดผลลัพธ์เดิมๆ เท่านั้น จะมีก็แต่การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่เท่านั้นเอง ที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ๆ ที่น่าพอใจ
การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจะทำให้เราทำงานได้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ทำให้มีความผิดพลาดน้อยลง เรื่อยๆ จนจะไม่ผิดพลาดเลยเมื่อเป็นมืออาชีพ
การเรียนรู้ได้เร็ว โดยเฉพาะการเรียนรู้ในความบกพร่องผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้เร็วเท่าไร เราก็จะได้แก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องต่อไปในภายหน้าได้เร็วทันการณ์ยิ่งขึ้น
คนคุณภาพจึงต้องถือว่า “ความผิดพลาด” เป็นครูและเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity Improvement) ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดความผิดพลาดซ้ำซากหลายครั้งหลายคน ซึ่งหลายๆ เรื่องกลายเป็นดินพอกหางหมูแก้ไขลำบากยิ่ง การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งในวันนี้
คนคุณภาพ จึงทำงานหรือทำเรื่องใดๆ อย่าง “เต็มที่” เสมอ
ถ้าอยากเป็นคนมีอนาคตมีความก้าวหน้า เราก็ต้องหมั่นถามตัวเองว่า “ทำเต็มที่หรือยัง” ผู้บริหารถึงอยากได้เราไว้ข้างกาย โอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตก็มีมากขึ้น ถ้าเป็นสินค้าก็มีโอกาสขายได้มากขึ้น เพราะถูกใจและใช้ได้ทนทาน
และสิ่งสำคัญที่สุด “คนคุณภาพ” มักจะรู้ว่าอะไรควรทำ โดยเอาใจเขามาใส่ใจเรา อะไรไม่ควรทำ และทำงานด้วยความรับผิดชอบจนกว่างานจะสำเร็จ โดยไม่ต้องมีใครคอยตามคอยจี้ ครับผม!