posttoday

ประมาณการกำไรสุทธิ ขาดเกินร้อยละ 25

26 กรกฎาคม 2556

การยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี 6 เดือนแรก (ภ.ง.ด. 51) ปี 2556 ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษีจากฐานกำไรสุทธิ

การยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี 6 เดือนแรก (ภ.ง.ด. 51) ปี 2556 ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษีจากฐานกำไรสุทธิ หากเป็นบริษัท ฯลฯ ที่เสียภาษีครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี 6 เดือนแรก จากประมาณการกำไรสุทธิ ถ้าประมาณการกำไรสุทธิสูงเกินกว่ากำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 ก็คงไม่มีปัญหาใด แต่ถ้าประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 แล้ว ได้เสียเงินเพิ่มนอกเหนือจากภาษีอย่างแน่นอน เว้นแต่ได้ประมาณการกำไรสุทธิขาดไปโดยมีเหตุอันสมควร จึงจะไม่เสียเงินเพิ่ม
การยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบ ภ.ง.ด. 51 ถ้าประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของภาษีที่คำนวณจากประมาณการกำไรสุทธิที่ประมาณการขาดไป ซึ่งคิดเป็นเงินมิใช่น้อยเลยทีเดียว
จริงๆ แล้วมีข้อผ่อนปรนในกรณีที่บริษัท ฯลฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 ไว้แล้ว แต่ได้ประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 หากมีเหตุอันสมควรตามที่กรมสรรพากรกำหนดไว้ก็ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 แต่อย่างใด หรือถ้าได้ประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 โดยไม่มีเหตุอันสมควร กฎหมายก็ยังผ่อนปรนให้บริษัท ฯลฯ มีสิทธิเสียเงินเพิ่มต่ำกว่าร้อยละ 20 หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
เหตุอันสมควรจากการประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ที่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของภาษีที่คำนวณจากประมาณการกำไรสุทธิที่ได้ประมาณการขาดไป สรุปได้ ดังนี้
• ยื่นแบบฯ ภ.ง.ด. 51 โดยได้ประมาณการกำไรสุทธิและยื่นเสียภาษีครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีแรกไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบเสียภาษีตามแบบ ภ.ง.ด. 50 ของรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ผ่านมา
• อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ
• อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมลดต่ำลง ทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยต่ำลงไป
• ค่าใช้จ่ายลดต่ำลง เนื่องจากได้มีการปรับปรุงบริหารงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น
• การส่งสินค้าออกมีความไม่แน่นอน ทั้งปริมาณและราคาสินค้า
• ปริมาณและราคาของสินค้าที่ขายเพิ่มสูงขึ้นเกินความคาดหมาย
• การรับค่าจ้างที่มีค่าจ้างไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับผู้ว่าจ้างและความยากง่ายของงานที่ทำ
• มีกำไรหรือขาดทุนจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อย่างผิดปกติ (บริษัท ฯลฯ ไม่ได้ประกอบกิจการหลักทรัพย์)
• ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เพื่อปรับปรุงรายได้เพิ่มขึ้น ตามข้อเท็จจริงของผลการตรวจสภาพกิจการ
• เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการในรอบระยะเวลา 6 เดือนหลังของรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการ
บริษัท ฯลฯ ที่ได้ประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 โดยไม่มีเหตุอันสมควรต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของภาษีที่คำนวณจากประมาณการกำไรสุทธิที่ได้ประมาณการขาดไป แต่บริษัท ฯลฯ อาจเสียเงินเพิ่มไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษี หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.81/2542 กล่าวคือ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 เพิ่มเติม โดยที่ไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวนเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ (***ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ มิให้นำมาหักออกจากภาษีที่คำนวณจากประมาณการกำไรสุทธิที่ได้ประมาณการขาดไป)
บริษัท ฯลฯ ที่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 ไว้แล้ว ต่อมาพบว่าได้ประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ลองพิจารณาดูว่ามีเหตุอันสมควรที่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มหรือไม่ สวัสดีครับ