ผงชูรสพลิกวิกฤตฝ่าตลาดอิ่มตัวเพิ่มลุยอาเซียน
ผงชูรส จัดเป็นเครื่องปรุงรสชนิดหนึ่งที่อยู่คู่ครัวไทยมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ในขณะนี้ผงชูรสกำลังเผชิญกับความท้าทายและเป็นช่วงจุดเปลี่ยนของตลาด จากกระแสเพื่อสุขภาพที่มาแรงและกระแสข่าวลบ ที่ถูกมองว่าเป็นสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีโทษต่อร่างกาย รวมถึงทัศนคติของคนรุ่นใหม่ต่อการใช้ผงชูรสแล้วช่วยให้รสชาติดีขึ้นจริงหรือ
ผงชูรส จัดเป็นเครื่องปรุงรสชนิดหนึ่งที่อยู่คู่ครัวไทยมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี ในขณะนี้ผงชูรสกำลังเผชิญกับความท้าทายและเป็นช่วงจุดเปลี่ยนของตลาด จากกระแสเพื่อสุขภาพที่มาแรงและกระแสข่าวลบ ที่ถูกมองว่าเป็นสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีโทษต่อร่างกาย รวมถึงทัศนคติของคนรุ่นใหม่ต่อการใช้ผงชูรสแล้วช่วยให้รสชาติดีขึ้นจริงหรือ
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ สภาพอุตสาหกรรมผงชูรสมูลค่าปีละร่วม 1 หมื่นล้านบาท มีอัตราการเติบโต 23% เท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับความท้าทายและต่างต้องปรับตัว เช่นเบนเข็มเจาะช่องทางผ่านการใช้ในร้านอาหารมากขึ้น รับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่กินข้าวนอกบ้าน และร้านอาหารส่วนใหญ่ยังคงใช้ผงชูรสปรุงอาหาร รวมถึงขยายตลาดไปในภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้น
ชัยชาญ อรุณสมบัติ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทยชูรส ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผงชูรสตราชฎา กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจผงชูรสตราชฎา ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจอาหารของตระกูลซอโสตถิกุล ที่ทำตลาดมากว่า 55 ปี มีการปรับตัวมาโดยตลอด เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและกินอาหารที่ปรุงจากผงชูรสน้อยลง
นอกจากนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผงชูรสไม่สามารถขยายฐานคนรุ่นใหม่ได้ ทั้งจากข้อมูลข่าวสารถึงการบริโภคผงชูรสที่ให้โทษต่อร่างกาย รวมถึงสารอื่นๆ อาทิ โซเดียม ทำให้ผู้บริโภคเลือกไม่รับประทานอาหารที่ปรุงจากผงชูรส ขณะเดียวกันผงชูรสจากจีนที่เข้ามาตีตลาด โดยใช้กลยุทธ์ราคาที่ถูกกว่า 50% สร้างผลกระทบต่อยอดขายของผู้ประกอบการไทย
ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่รุมเร้า ส่งผลให้อุตสาหกรรมผงชูรส 1 หมื่นล้านบาท ในช่วง 4-5 ปีนี้ เริ่มถึงจุดอิ่มตัว อัตราการบริโภคคนไทย 2 กรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น โดยการบริโภคผงชูรสที่ลดลงอย่างชัดเจน มาจากกลุ่มผู้บริโภคครัวเรือนในกรุงเทพฯ มีพฤติกรรมการบริโภคผงชูรสน้อยมาก ส่วนการบริโภคผงชูรสในตลาดต่างจังหวัดยังเติบโตได้ดีอยู่
ขณะที่แผนการตลาดบริษัทได้ขยายกลุ่มเป้าหมายในร้านอาหารมากขึ้น เพราะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 10% เท่ากับกลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนการบริโภคในครัวเรือนโต 23% เท่านั้น บริษัทได้ดำเนินการตลาดเชิงรุกในรอบ 20 ปี ทุ่มงบกว่า 110 ล้านบาท เปิดตัวแคมเปญ “คนไทยใจชูรส” ปรับการสื่อสารใหม่เพื่อสร้างภาพลักษณ์สินค้าให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
“ถือว่าเป็นการทุ่มงบทำแคมเปญที่สูงในรอบหลายปี มีการโฆษณาโทรทัศน์ และเปิดตัวพรีเซนเตอร์ จัดทำเว็บไซต์ และหนังสือส้มตำกูรู การรุกตลาดในครั้งนี้ เพื่อทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ หลังจากเราทำตลาดมาร่วม 55 ปี ฐานลูกค้าเริ่มมีอายุที่มากขึ้น จึงต้องสร้างฐานลูกค้าแม่บ้านรุ่นใหม่และร้านอาหารเพิ่มขึ้น” ชัยชาญ กล่าว
สำหรับปีหน้านี้ บริษัทจะพิจารณาแตกผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสภายใต้อัมเบรลล่าแบรนด์ตราชฎา เพื่อสร้างให้เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อีกขาหนึ่งนอกเหนือจากผงชูรสที่ตลาดอิ่มตัว ขณะเดียวกันยังแตกกลุ่มเครื่องปรุงรสอื่นๆ ในอนาคต รวมถึงมองโอกาสการขยายตลาดต่างประเทศ เพื่อรองรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ปี 2558
ชัยชาญ กล่าวว่า บริษัทมุ่งขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น นำร่องที่พม่า และเตรียมเปิดตลาดลาว กัมพูชา เวียดนาม หากได้รับการตอบรับดี มีแผนสร้างโรงงานในต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมาย 3-5 ปี มีรายได้ต่างประเทศเพิ่มจาก 15% หรือ 250 ล้านบาทในปีนี้ เป็น 20-25% หรือ 500 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมปีนี้ 1,320 ล้านบาท โต 10%
เอะสึฮิโระ ทาคาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะ กล่าวว่า อายิโนะโมะโต๊ะกำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ คือ ตลาดผงชูรสในไทยเติบโตคงที่และแนวโน้มลดลง ทำให้ต้องแสวงหาหนทางใหม่ โดยตลาดผงชูรสเมืองไทย กลุ่มลูกค้ารายย่อยโตน้อย แต่ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมยังโตดี
บริษัทจึงต้องมองหาตลาดใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะกัมพูชา ได้ลงทุนเปิดโรงงานแบ่งบรรจุด้วยงบ 300 ล้านบาท และที่พม่า ใน 1-2 ปีนี้จะตั้งโรงงานแบ่งบรรจุงบ 300 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ลงทุน 6,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตผงชูรสแห่งที่ 3 ใหม่ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เสร็จเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีกำลังผลิต 7 หมื่นตันต่อปี ปัจจุบันมีกำลังผลิต 1.7 แสนตัน รับกับแผนบุกตลาดในประเทศและต่างประเทศ
รายงานอุตสาหกรรมผงชูรส ระบุ ตลาดมี 4 แบรนด์หลัก มี 2 ยี่ห้อที่เจาะผู้บริโภคในครัวเรือน คือ ตราชฎา มีส่วนแบ่ง 20% อายิโนะโมะโต๊ะ มี 65-70% ส่วนที่จับกลุ่มอุตสาหกรรม 3 ยี่ห้อ ได้แก่ ราชาชูรส อายิโนะทะกะระ และอายิโนะโมะโต๊ะ มีส่วนแบ่งยี่ห้อละ 30-40%
นอกจากนี้การเติบโตที่ลดลงของตลาดผงชูรส ผู้ประกอบการปรับตัวหันมาสู่สมรภูมิตลาดผงปรุงรสซึ่งมีมูลค่า 6,000-7,000 ล้านบาท โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ตลาดเติบโต 20% เนื่องจากเป็นตลาดที่ตอบโจทย์ความต้องการของแม่บ้านยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วได้ดีกว่า โดยเฉพาะผงปรุงที่มีนานาชนิด อาทิ รสต้มยำ
ขณะที่ บริษัทอายิโนะทะกะระ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผงชูรสตราภูเขา กล่าวว่า บริษัทได้ปรับตัวโดยเบนเข็มหันมาขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ แม้ว่าผงชูรสจะเป็นธุรกิจแรกเริ่มเดิมทีของบริษัทก็ตาม นอกจากนี้มาให้ความสำคัญเจาะตลาดกลุ่มอุตสาหกรรมมากขึ้น
แม้ว่าอุตสาหกรรมผงชูรสจะเผชิญกับความท้าทายกับตลาดที่อิ่มตัว และกระแสสุขภาพที่มาแรง แต่จุดเปลี่ยนดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการ พยายามมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ได้รับอิทธิพลหรือวัฒนธรรมการกิน หรือปรุงอาหารด้วยผงชูรสจากไทยไป อยู่ที่ว่าแบรนด์ใดจะไปปักธงก่อนเท่านั้นเอง