ก้าวใหม่แอนิเมชั่นไทย"เดอะ สลัด" อินเจแปน

02 สิงหาคม 2556

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

จุดเปลี่ยนวงการแอนิเมชั่นไทย “เดอะสลัด” ถูกบริษัทแดนปลาดิบ ซื้อลิขสิทธิ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สร้างชื่อแอนิเมชั่นไทยไปทั่วโลก

ธุรกิจแอนิเมชั่นของประเทศไทยที่มีมูลค่ามากกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เติบโตเป็นตัวเลขสองหลักต่อเนื่องมาหลายปี ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากงานผลิตที่สร้างสรรค์โดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี ที่รับผลิตงานให้แก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

บริษัทที่โดดเด่นสุดในเวลานี้ คือ “ไบท์อินอะคัพ” เจ้าของแอนิเมชั่น “เดอะ สลัด” (The SALADS) ที่ถูกบริษัท วิดีโอ มาร์เก็ต คอร์เปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่น ติดต่อขอเป็นตัวแทนบริหารลิขสิทธิ์ “เดอะ สลัด” ในประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ พร้อมกับดึงคาแรกเตอร์การ์ตูน เดอะ สลัด ไปฉายในโรงภาพยนตร์ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ซึ่งเริ่มทำตลาดตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. และเตรียมพัฒนาเป็นสินค้าลิขสิทธิ์รูปแบบต่างๆ

พลิกแฟ้มประวัติ บริษัท ไบท์อินอะคัพ ก่อตั้งในปี 2551 เป็นบริษัทในเครือบริษัท ดรีม เอกซ์เพรส หรือ เดกซ์ ตัวแทนนำเข้าลิขสิทธิ์การ์ตูนจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทย จนบริษัทเปลี่ยนแนวคิดธุรกิจใหม่ ต้องการสร้างคาแรกเตอร์การ์ตูนของตัวเอง จนเกิดการผลิตงานแอนิเมชั่น “เดอะ สลัด” ขึ้นมา ในช่วงแรกเริ่มจะเป็น คาแรกเตอร์ ดีไซน์ และแอนิเมชั่นเรื่องสั้น ซึ่งได้รับรางวัลจากการประกวดมากมาย ทำให้ในปี 25532554 จึงสร้างเป็นแอนิเมชั่นแบบต่อเนื่อง

พนิดา เทวอักษร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบท์อินอะคัพ เปิดเผยว่า แรงบันดาลใจในการคิดค้น เดอะ สลัด มาจากสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติและอยู่ใกล้ตัวเรา จึงสร้างแอนิเมชั่นที่มีคาแรกเตอร์เป็นผัก ผลไม้ ดอกไม้ ทำให้คนทุกวัยสามารถดูได้แบบไม่มีบทพูด แอนิเมชั่นจึงมีความสากล ทุกประเทศดูได้ และรู้สึกใกล้ชิด พร้อมกับบทเพลงประกอบที่แต่งขึ้นเองทั้งหมด ทำให้ เดอะ สลัด มีเนื้อเรื่องสนุกสนาน การ์ตูนมีสีสัน และบทเพลงไพเราะ

ทีมงานในบริษัทร่วมกันใช้เวลา 18 เดือน ใช้งบลงทุนประมาณ 2030 ล้านบาท ผลิตผลงานออกมาในช่วงแรก 26 ตอน ตอนละ 5 นาที เริ่มจากการออกอากาศจะผ่านเคเบิล ทีวี ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีและได้รับรางวัลจากการประกวดมากมาย ทำให้ลูกค้าต่างชาติรู้จักมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ การมีจุดเด่นของเรื่องราวที่สนุกและเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม

กลุ่มเป้าหมายหลักมีอายุ 410 ปีและครอบครัว โดยปัจจุบันได้ผลิตแอนิเมชั่น “เดอะ สลัด” ความยาว 11 นาที รวม 26 ตอน ในรูปแบบดีวีดี พร้อมเปิดตัว ตุ๊กตา เดอะสลัด วางจำหน่าย และยังถูกทำเป็นหนังสือนิทานสำหรับเด็กภายใต้สำนักพิมพ์ แฮปปี้ คิดส์ ได้รับการตีพิมพ์ในหลายประเทศ รวมทั้งเตรียมออกอากาศผ่านทางฟรีทีวีในช่วงปลายปีนี้ ส่วนปีต่อไปจะผลิตงานแอนิเมชั่นออกมาต่อเนื่อง เพราะมั่นใจกับเดอะ สลัด ที่เป็นผลงานชิ้นแรกและประสบความสำเร็จ

ฮิโรมิชิ มาซึดะ ผู้อำนวยการ บริษัท วิดีโอ มาร์เก็ต คอร์เปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า การเลือกเดอะ สลัด เพราะมีคาแรกเตอร์โดดเด่น เมื่อเทียบกับแอนิเมชั่นอื่นๆ ของประเทศไทย เมื่อได้เห็นแล้วรู้สึกชอบทันทีและมีความน่ารักมาก เป็นการ์ตูนสนุก ดูได้ในทุกวัย พร้อมทั้งครอบครัว ไม่จำกัดเฉพาะเด็ก จึงตัดสินใจนำไปเปิดตลาดในญี่ปุ่น ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของแอนิเมชั่นไทย

ระยะแรกได้ทดลองออกอากาศในโรงภาพยนตร์ของญี่ปุ่น ก่อนภาพยนตร์ฉายเวลา 5 นาที พบว่า คนญี่ปุ่นชื่นชอบมาก จึงเชื่อว่า เดอะ สลัด มีโอกาสเพิ่มกลุ่มลูกค้าได้มากในอนาคต ทำให้มั่นใจในปีแรกจะสร้างรายได้ประมาณ 50100 ล้านเยน ซึ่งรวมรายได้จากการผลิตเป็นซีดีและสินค้าสิขสิทธิ์ออกจำหน่าย

พร้อมกับตั้งเป้าหมายระยะยาว เดอะ สลัด จะเป็นการ์ตูนโด่งดังและมีชื่อเสียงได้เทียบเท่ากับการ์ตูน คิตตี้ และโดราเอมอน ซึ่งเป็นการ์ตูนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในประเทศญี่ปุ่นและทั่วโลก โดยใช้ระยะเวลารวม 3040 ปี โดยมูลค่าตลาดรวมของแอนิเมชั่นในประเทศญี่ปุ่น อยู่ที่ 1.39 ล้านล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 4 แสนล้านบาท และเป็นตลาดที่เติบโตอย่างสดใส เพราะคนญี่ปุ่นชื่นชอบดูการ์ตูนทุกวัย ดังนั้น เดอะสลัด จะเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นที่ได้รับความนิยมแน่นอน นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ยังมีบริษัทจากเกาหลี จีน ฮ่องกง ไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมทั้งสหรัฐและยุโรป เข้ามาติดต่อขอเป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ และอยู่ระหว่างเจรจา รวมทั้งสนใจเปิดตลาดใหม่ในภูมิภาคอื่นทั่วโลก ซึ่งมีสหรัฐ และยุโรป สนใจขอเป็นตัวแทนบริหารลิขสิทธิ์เช่นกัน

นิธิพัฒน์ สมสมาน นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) กล่าวว่า สมาชิกในสมาคมส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีศักยภาพสูงมากในงานดิจิตอล คอนเทนต์ ทั้งออกแบบ สร้างสรรค์ และครีเอทีฟ ซึ่งจะผลิตผลงานออกมาเป็นงานแอนิเมชั่น เกม คาแรกเตอร์การ์ตูน และภาพยนตร์ มั่นใจว่ามีโอกาสก้าวสู่ตลาดโลกไม่ยาก

ต้องจับตามอง “ไบท์อินอะคัพ” กำลังสร้างชื่อเสียงแอนิเมชั่นไทย “เดอะ สลัด” ให้คนทั่วโลกได้รู้จัก และเป็นแรงหนุนสำคัญต่ออุตสาหกรรมดิจิตอล คอนเทนต์ ที่มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มมากกว่า 100 ราย ให้โดดเด่นมากขึ้นในเวทีโลก

Thailand Web Stat