ไทยขาดดุลการค้าจีนสูงเป็นประวัติการณ์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะปรับกลยุทธ์ส่งออกจีนเป็นเชิงรุก หลังขาดดุลการค้ากับจีนสูงเป็นประวัติการณ์ 3,553 ล้านดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะปรับกลยุทธ์ส่งออกจีนเป็นเชิงรุก หลังขาดดุลการค้ากับจีนสูงเป็นประวัติการณ์ 3,553 ล้านดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ภาพการส่งออกของไทยไปจีนยังคงชะลอตัวตามเศรษฐกิจจีน โดยในเดือนกรกฎาคม 2556 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แม้จะหดตัวในอัตราที่ลดลงเหลือร้อยละ 5.3 (YoY) เป็นมูลค่า 2,104 ล้านดอลลาร์ฯ สวนทางกับการนำเข้าของไทยจากจีนที่พลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 9.7 (YoY) ทำลายสถิติอีกครั้งที่ 3,553 ล้านดอลลาร์ฯ (สถิติเดิมเคยทำไว้ที่มูลค่า 3,437 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2555) ทำให้ไทยขาดดุลการค้ารายเดือนกับจีนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,449 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งหากเหตุการณ์ส่งออกยังไม่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็อาจฉุดดุลการค้าของไทยกับจีนในปี 2556 นี้ เข้าใกล้กรอบล่างของประมาณการเดิมที่ 12,100 ล้านดอลลาร์ฯ มากขึ้น และอาจเป็นสถิติการขาดดุลการค้าระหว่างไทย-จีนครั้งใหม่ได้ (ล่าสุดขาดดุลที่ 10,251 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2555)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2556 การส่งออกของไทยไปจีนน่าจะปรับตัวดีขึ้นและช่วยประคับประคองภาพการค้าโดยรวมได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ทิศทางการส่งออกไปจีนในระยะข้างหน้าที่ไม่สดใสนัก ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งหาคู่ค้าใหม่ในตลาดจีนมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการในพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่ยังมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของจีนที่มีค่อนข้างหลากหลายตลอดปี
ส่งออกไปจีนชะลอตัว ... กดดันไทยขาดดุลการค้ากับจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่
เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด แต่ภาวะดังกล่าวปรากฎชัดมากขึ้นนับตั้งแต่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ดึงให้การส่งออกของไทยที่พึ่งพาจีนเติบโตช้าลงเรื่อยมา โดยในเดือนกรกฎาคม 2556 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 5.3 (YoY) มีมูลค่า 2,104 ล้านดอลลาร์ฯ สวนทางกับการนำเข้าของไทยที่พลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 9.7(YoY) ทำสถิติใหม่ที่ 3,553 ล้านดอลลาร์ฯ สาเหตุสำคัญจากการเร่งนำเข้าเรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำที่เพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมาก ซึ่งก็น่าจะเป็นผลในระยะสั้น อย่างไรก็ดี สถานการณ์ดังกล่าวผลักดันให้ไทยขาดดุลการค้ารายเดือนกับจีนสูงเป็นประวัติการณ์แตะ 1,449 ล้านดอลลาร์ฯ อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าในระยะข้างหน้าไทยจะขาดดุลการค้ากับจีนในเกณฑ์สูงกว่าในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งอาจกระทบต่อฐานะดุลการค้าโดยรวมของไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 1 ของไทย
แม้ว่าการส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกรกฎาคมจะหดตัวในอัตราชะลอลง แต่ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากฐานเปรียบเทียบที่ค่อนข้างต่ำ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกบางรายการเป็นกรณีเฉพาะ อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ยอดส่งออกดีขึ้นจากปีก่อนที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง อย่างไรก็ดี ภาพการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2556 ยังอาจเผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนโดยรวมอยู่ แต่ก็คาดหวังว่าการส่งออกจากไทยไปจีนจะได้แรงหนุนจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน รวมถึงภาวะภัยธรรมชาติในจีนทำให้การส่งออกสินค้าในหมวดเกษตรกรรมของไทยมีโอกาสไปชดเชยความเสียหายทางการผลิตในจีน และการเร่งสะสมสต็อกสินค้าในช่วงก่อนเทศกาลส่งท้ายปี เป็นต้น
กระนั้นก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การคาดหวังให้การส่งออกไปจีนกลับมาสดใสในระยะอันใกล้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะยังคงมีแรงกดดันสำคัญจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน การย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการบางรายในกลุ่มคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศอื่น และนโยบายการลดการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศเพื่อประคองผู้ผลิตในจีน ดังนั้น การแสวงหาคู่ค้ารายใหม่และตลาดใหม่ก็น่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยกระจายความเสี่ยงและลดผลกระทบจากภาวะชะลอตัวที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจมากขึ้น โดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญในจีนจะช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่นักธุรกิจในการแสวงหาคู่ค้าที่ยังมีศักยภาพได้อีกทางหนึ่ง
หาคู่ค้าเพิ่มจากงานแสดงสินค้า ... ขยายโอกาสทำตลาดในจีน
การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอาจกระทบธุรกิจไทยในระยะข้างหน้า ดังนั้น การรุกทำตลาดจีนเพื่อขยายฐานลูกค้าน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่มีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้ากับจีนที่จะยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพของธุรกิจไทยในระยะยาว โดยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในจีนเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับนักธุรกิจที่มุ่งทำธุรกิจกับคนจีน ซึ่งทางฝั่งจีนมีงานแสดงสินค้าที่สำคัญตลอดปีอันจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจสร้างมูลค่าการค้าได้อย่างน่าจับตา ดังนี้
@ Canton Fair หรือ China Import and Export Fair งานแสดงสินค้าส่งออกและนำเข้าอันดับ 1 ของจีน เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงนักธุรกิจ ซึ่งการจัดงานในแต่ละครั้งได้รับความสนใจอย่างมาก รวมทั้งในไทยเองมีกรุ๊ปทัวร์เพื่อนำนักธุรกิจเข้าเยี่ยมชมงานนี้โดยเฉพาะด้วยเช่นกัน
งานดังกล่าวเป็นการรวมสินค้าในจีนครอบคลุมสายการผลิตในแทบจะทุกกลุ่มสินค้า อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์ก่อสร้าง สินค้าอุปโภค/บริโภค ของใช้ในครัวเรือน ของขวัญ เครื่องใช้ในสำนักงาน สินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้ามีนวัตกรรม และสิ่งทอ เป็นต้น โดยเป็นงานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่เมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง สำหรับครั้งถัดไปจะจัดขึ้นช่วงวันที่ 15 ตุลาคม- 4 พฤศจิกายน 2556 นี้
@ China - ASEAN Expo (CAEXPO) หรืองานแสดงสินค้าเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอาเซียน ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2556 ที่เมืองหนานหนิง เมืองเอกของกว่างซี ซึ่งคึกคักอย่างมากถึงขั้นที่ทางการกว่างซีต้องออกมาประกาศจัดระเบียบควบคุมราคาห้องพักในเมืองหนานหนิงช่วงเวลาดังกล่าว และในวาระครบรอบ 10 ปีนี้ ของการจัดงาน ได้เชิญประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศนอกกลุ่มเข้ามาร่วมงานเป็นครั้งแรก เพื่อต่อยอดสานสัมพันธ์ไปสู่การจัดเจรจาความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่กำลังจะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 24-27 กันยายน ที่ประเทศออสเตรเลีย
@ งานแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทยจัดขึ้นในหลายมณฑล ได้การตอบรับที่ดีจากคนจีน สะท้อนว่าสินค้าและวัฒนธรรมไทยเข้าถึงคนจีนได้ สินค้าที่จัดแสดงและจำหน่ายมักเป็นกลุ่มอาหาร การจัดงานดังกล่าวนำโดยสถานกงสุลไทยเป็นตัวแทนจัดงานเทศกาลไทยในพื้นที่ต่างๆ ของจีน อาทิ คุนหมิง (มณฑลยูนนาน) กุ้ยหยาง (กุ้ยโจว) ปักกิ่ง กว่างโจว (กวางตุ้ง) และมณฑลส่านซี ในเมืองซีอาน เมืองเป่าจีและเมืองอันคัง เป็นต้น
@ นอกจากงานข้างต้นแล้วยังมีงานแสดงสินค้าเฉพาะด้านอีกหลายงาน ซึ่งเหมาะแก่นักธุรกิจที่มีเป้าหมายที่ชัดเจน อาทิ งานแสดงสินค้าเบ็ดเตล็ดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ MEGA SHOW จัดที่ฮ่องกง ในช่วงเดือนตุลาคม และงานแสดงสินค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย China Information Technology Expo (CITE) รวมถึงงานอื่นๆ ที่แสดงสินค้าเทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญไม่แพ้กัน อาทิ China Electronics Fair (CEF) และ China Consumer Electronics Fair (CCEF)
สินค้าไทยได้รับการตอบรับค่อนข้างดี จากงานแสดงสินค้าข้างต้น บ่งชี้สินค้าไทยมีโอกาสเติบโต หากเร่งรุกหาช่องทางทำตลาดและสร้างเครือข่ายกับธุรกิจจีน ทั้งนี้ สินค้าไทยที่ได้รับความนิยมสำคัญ อาทิ มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน มะม่วง มังคุด ลำไย ส้มโอ ผลไม้อบแห้ง กล้วยไม้ ต้มยำกุ้ง ยำวุ้นเส้น แกงมัสสมั่น ส้มตำ ขนมไทย (บัวลอย ข้าวเกรียบปากหม้อ ข้าวเหนียวมะม่วง ลูกชุบ ถั่วแปบ วุ้นหลากสี) เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน งานฝีมือ เครื่องประดับ เสื้อผ้า ของใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งวัฒนธรรมไทยและการท่องเที่ยวในไทย ก็ได้รับความสนใจไม่น้อยเช่นกัน
ทั้งนี้ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าให้ประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมและศึกษารายละเอียดการจัดงาน มีความรู้ภาษาจีนในการติดต่อธุรกิจ เตรียมเอกสารในการทำธุรกิจที่มีภาษาจีนประกอบให้พร้อม สร้างความโดดเด่นให้แก่สินค้าที่จะนำไปร่วมงาน รวมทั้งควรหาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ และสานสัมพันธ์ทางธุรกิจกับนักธุรกิจจีนอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำสัญญาทางการค้าจะต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ
โดยสรุป การเอาตัวรอดของภาคธุรกิจในภาวะที่คู่ค้าสำคัญอย่างจีนชะลอตัว เป็นสิ่งที่ควรรีบหาช่องทางบรรเทาผลกระทบก่อนที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาคธุรกิจ ถึงแม้ว่าในภาพรวมของตลาดจะชะลอตัวแต่ก็ยังมีนักธุรกิจในจีนอีกมากที่มีความแข็งแกร่งและต้องการสินค้าเพื่อจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ หากสินค้าของไทยสามารถตอบโจทย์ของผู้ประกอบการในจีนได้ย่อมมีโอกาสเติบโตเช่นกัน ซึ่งงานแสดงสินค้าในจีนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ประกอบการจะได้พบปะนักธุรกิจจีนที่มีความต้องการสินค้าเพื่อนำไปจำหน่ายโดยตรง โดยในท้ายที่สุดการได้คู่ค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น นอกจากจะช่วยบรรเทาผลจากคำสั่งซื้อที่ลดลงตามการชะลอตัวของจีนแล้ว ยังช่วยหนุนนำการส่งออกของไทยไปจีนในระยะข้างหน้าให้รักษาระดับเติบโตต่อเนื่องได้อีกด้วย