posttoday

"อัคนี 1" นวัตกรรมประหยัดพลังงาน

27 กันยายน 2556

เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แม่ค้าร้านตลาด รวมไปถึงแม่บ้านต้องเครียดหาวิธีประหยัดค่าก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี)

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แม่ค้าร้านตลาด รวมไปถึงแม่บ้านต้องเครียดหาวิธีประหยัดค่าก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) หลังกระทรวงพลังงานประกาศปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีอีก 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม เรื่องนี้น้องๆนักศึกษาสาขาวิศวกรรมพลังงาน วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบอกว่า “อัคนี 1” ช่วยได้

อภิญญา วิวัฒนเบญจกุล นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมพลังงาน วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เล่าว่า “อัคนี 1” เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเตาหุงต้มในครัวเรือน ช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิงหรือก๊าซแอลพีจีได้สูงสุดถึง 30% ขณะเดียวกันยังสามารถนำเอาพลังงานความร้อนเหลือทิ้งมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และหลอดไฟแอลอีดีได้อีกด้วย โดยขณะนี้ได้สร้างเครื่องต้นแบบสำเร็จแล้ว และวางแผนที่จะพัฒนาต่อไปให้เหมาะกับการใช้งานในครัวเรือน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในเรื่องก๊าซหุงต้มและช่วยชาติในการประหยัดพลังงานอีกทางหนึ่ง

จุดเริ่มต้นความคิดมาจากการที่น้องๆ มองเห็นว่า เวลานี้ทุกประเทศทั่วโลกต่างพยายามแสวงหาแหล่งพลังงานทดแทนใหม่ๆ และวิธีในการใช้พลังงานที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดปัญหาสภาวะโลกร้อน ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกัน เพราะนอกจากจะช่วยโลกได้และยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าที่ต้องเสียไปกับค่าเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นทุกวันอีกด้วย

ขณะเดียวกันก็ยังสามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ วิทยุ เครื่องมือสื่อสาร หรือชาร์ตแบตเตอรี่ขนาดเล็กสำหรับโคมไฟฉุกเฉินหรือไฟฉาย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ธุระกันดารไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง การประดิษฐ์นี้ชิ้นนี้จึงเป็นการต่อยอดเทคโนโลยีด้านการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนที่สำคัญยิ่ง และเป็นอีกทางเลือกในการแก้ปัญหาวิกฤติด้านพลังงานในอนาคต ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง” อภิญญา กล่าว

ด้าน เฉลิมเดช พินจะโปะ นักศึกษาสาขาวิศวกรรมพลังงาน วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวเสริมว่า อุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพเตาหุงต้มครัวเรือนและผลิตกระแสไฟฟ้า ประกอบไปด้วยส่วนประกอบที่สำคัญ 2 ชุด ชุดแรก คือ อุปกรณ์บังลม ซึ่งจะทำหน้าที่กักเก็บพลังงานความร้อนและป้องกันการสูญเสียพลังงานความร้อนสู่สภาพแวดล้อม

ชุดที่สอง คือ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยจะประกอบไปด้วยครีบโลหะรับความร้อนที่ถูกติดตั้งอยู่ภายในชุดบังลมทำหน้าที่รับเอาพลังงานบางส่วนจากภายในเตา ส่งผ่านข้อต่อนำความร้อนออกสู่นอกชุดบังลมไปยังผิวสัมผัสของอุปกรณ์เทอร์โมอิเล็กทริก โดยผิวสัมผัสอีกด้านหนึ่งของอุปกรณ์ ซึ่งอยู่ภายนอกของชุดบังลมจะถูกเชื่อมต่อกับครีบโลหะ เพื่อระบายความร้อน

สำหรับครีบโลหะเพื่อระบายความร้อนภายนอก จะถูกครอบด้วยฝาครอบป้องกันซึ่งติดตั้งพัดลมระบายความร้อนขนาดเล็ก ทำหน้าที่ช่วยระบายความร้อน ให้กับคลีบโลหะระบายความร้อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าของอุปกรณ์เทอร์โมอิเล็กทริก ซึ่งจะทำให้ได้ไฟฟ้ากระแสตรงและแรงดันไฟฟ้าออกมา ก่อนที่จะนำพลังงานไฟฟ้าดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จึงเท่ากับว่าเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงและใช้ประโยชน์จากความร้อนเหลือทิ้งมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในเวลาเดียวกัน

หากผู้ใดสนใจเทคโนโลยีดังกล่าว สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาวิศวกรรมพลังงาน วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม โทร. 02-878-5035

Thailand Web Stat