เปิด-ปิดเทอมเด็กไทยปี'57ปรับครั้งใหญ่มากกว่า"วันเวลา"
การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาการเปิดปิดเทอมตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีด้านการศึกษา
โดย...ตะวัน หวังเจริญวงศ์
การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาการเปิดปิดเทอมตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีด้านการศึกษา นำไปสู่คำถามตามมาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และสิ่งที่ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันด้วย
สาขาวิชาบริหารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดสัมมนาหัวข้อ “ผลกระทบ ทางเลือก และทางออกเกี่ยวกับการเลื่อน เปิดปิด ภาคเรียนของสถานศึกษา ที่มุ่งเตรียมพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” มีตัวแทนจากหน่วยงานด้านการศึกษาแต่ละระดับร่วมเป็นวิทยากร
อาภรณ์ แก่นวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เริ่มต้นก่อนว่า การเลื่อนเปิดปิดภาคเรียนของสถาบันอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับอาเซียนและสากล จะส่งผลกระทบ 3 ด้านหลัก 1.กระทบต่อการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั้งระบบแอดมิชชันและระบบรับตรง เด็กอาจวิ่งรอกสอบมากขึ้น ตลอดจนสละสิทธิ์ที่นั่งเพื่อเปลี่ยนที่เรียน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาอาจใช้โอกาสนี้ในการจัดการเรื่องระบบรับตรงไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและความประหยัด 2.กระทบต่อการเข้าสู่งานของบัณฑิต การสอบใบประกอบวิชาชีพต่างๆ ตลอดจนการเกณฑ์ทหาร และการใช้ทุนของนักศึกษากลุ่มแพทย์ 3.เกิดช่วงเวลาเหลื่อมล้ำในการเปิดปิดภาคเรียนระหว่างช่วงชั้นมากขึ้น
จากการพูดคุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของมาเลเซีย พบว่าที่นั่นใช้เวลาที่เหลื่อมล้ำกันระหว่างช่วงชั้น จัดฝึกภาษาอังกฤษแบบเข้มข้นให้แก่เด็กก่อนเข้าสู่ช่วงชั้นอุดมศึกษา “เราคิดว่ามาเลเซียเก่งภาษาอังกฤษแล้ว แต่เขาบอกยังไม่พอ เขาใช้เวลาช่วงนั้นทำให้เด็กมีทักษะภาษาดี เมื่อประกอบกับความรู้วิชาการที่จะได้จากช่วงมหาวิทยาลัยก็จะทำให้เขากลายเป็นคนคุณภาพ”
ทั้งนี้ได้เสนอแนวคิดของทางมาเลเซียให้กับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ได้รับทราบแล้ว ถ้ามีการนำไปใช้ก็จะทำให้เด็กไทยมีคุณภาพมากขึ้น
ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า แม้มหาวิทยาลัยจะประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียนแล้ว 27 แห่ง แต่สำหรับกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏยังยืนยันจะเปิดช่วงเดิม เนื่องจากคิดว่าสามารถรับนักศึกษาได้ก่อน ทำให้มีนักศึกษาเข้ามาเรียนมากขึ้น แต่ในสถานการณ์จริงอาจตรงกันข้าม
“หากตอนแรกเด็กยอมเสียค่าเทอมมาเรียนกับเราก่อน 1 เทอม แต่ระหว่างที่เรียนเทอม 1 เด็กเกิดสอบที่อื่นติดด้วย แล้วย้ายไปเรียนที่อื่นกันหมด คราวนี้จะยิ่งแย่ เพราะที่อื่นเปิดช้ากว่า ถ้าย้ายกันไปเยอะๆ จะหาเด็กจากไหนมาเรียนเพิ่ม เพราะเราเปิดเรียนไป 1 ภาคเรียนแล้ว”
วนิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ชี้แจงว่า เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีนโยบายเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะต่อสายสามัญที่ 51 ต่อ 49 จึงต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้เรียนจบชั้น ม.3 จากโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ก่อน ช่วงเปิดปิดภาคเรียนจึงต้องปรับให้สอดคล้องกับ สพฐ. คือภาคเรียนที่ 1 ช่วงเดือน มิ.ย.-ต.ค. และภาคเรียนที่ 2 ช่วงเดือน พ.ย.-มี.ค.
นอกจากนี้ การเรียนจบในช่วงเดือน มี.ค. จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ก่อนในช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูง อีกทั้งยังสอดคล้องกับความต้องการแรงงานฝีมือบางสาขา เช่น การท่องเที่ยว งานก่อสร้าง โลจิสติกส์ เกษตรกรรม เนื่องจากหากเลื่อนไปจบการศึกษาในเดือน พ.ค. จะใกล้กับช่วงฤดูฝน ซึ่งไม่เหมาะทำงานดังกล่าว ที่สำคัญยังสอดรับกับอาเซียนในการแลกเปลี่ยนนักศึกษาด้วย
พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ประธานสาขาวิชาบริหารการศึกษา ภาควิชานโยบายการจัดการและความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า เรื่องการออกฝึกสอนของนักศึกษาคณะครุศาสตร์นั้นไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากการเลื่อนเปิดภาคเรียน กลุ่มที่ต้องกังวลคือ กลุ่มโรงเรียนสาธิตที่มีสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัย ว่าจะจัดระบบการเปิดปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับกลุ่มใด ขณะนี้มีผู้เสนอความคิดเห็นหลายแนวทาง 1.เปิดภาคเรียนที่ 1 เดือน มิ.ย. หรือเดือน ก.ค. และ 2.เปิดเรียนระดับชั้น ม.1-ม.5 ในเดือน ส.ค. ให้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัย เว้นเพียงชั้น ม.6 ที่เปิดในช่วงอื่น