posttoday

ม.กรุงเทพปั้นเถ้าแก่นานาชาติ

14 ตุลาคม 2556

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดหลักสูตรผู้ประกอบการ หวังปั้นเถ้าแก่ รับการขยายตลาดเพื่อนบ้าน

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดหลักสูตรผู้ประกอบการ หวังปั้นเถ้าแก่ รับการขยายตลาดเพื่อนบ้าน

นายเพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมมือกับแบ๊บสันคอลเลจ จากสหรัฐ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตบุคลากรด้านธุรกิจ เปิดหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ คณะผู้ประกอบการและการจัดการ เพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจและคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มทำธุรกิจส่วนตัวมากขึ้น

หลักสูตรนี้เปิดสอนปีนี้เป็นปีแรก เบื้องต้นมีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนแล้ว 40 คน จุดเด่นของหลักสูตร คือ ใช้เวลาเรียน 1 ปี เน้นกลุ่มลูกเถ้าแก่ที่มีธุรกิจครอบครัวอยู่แล้ว รวมทั้งกลุ่มนักธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีประสบการณ์การประกอบธุรกิจมาบ้างแล้ว ก่อนจบผู้เรียนจะต้องเขียนแผนธุรกิจมาเสนอและจดทะเบียนธุรกิจของตัวเองอย่างน้อย 1 ธุรกิจ จึงจะจบหลักสูตร

“แม้ว่าจะไม่ใช่มหาวิทยาลัยแรกๆที่มีหลักสูตรนี้ แต่การันตีได้เลยว่าหลักสูตรของมหาวิทยาลัยกรุงเทพดีที่สุดในประเทศไทยและยังเป็นอันดับต้นๆในอาเซียนที่มีการเรียนการสอนอยู่ด้วย เพราะตัวลักสูตรได้มีการพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยแบ๊บสัน ซึ่งเป็นอันดับ 1 ในการจัดหลักสูตรด้านนี้ของโลก จึงทำให้มั่นใจได้ว่าหลักสูตรของเราเข้มข้นมาก” นายเพชร กล่าว

นยนายเพชร กล่าวว่า หลักสูตรนี้จะเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของมหาวิทยาลัยที่จะรองรับนักศึกษาอาเซียน เนื่องจากคุณภาพการเรียนการสอนดีไม่แพ้ต่างประเทศ แต่ค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก

ทั้งนี้ ปัจจุบันวิทยาลัยนานาชาติของ มหาวิทยาลัยมีนักศึกษา 2,000 คน เป็นชาวต่างชาติประมาณ 200300 คน โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศอังกฤษและสหรัฐ ทั้งนี้คาดว่าการเปิดหลักสูตรผู้ประกอบการน่าจะช่วยเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะจากชาติอาเซียน เช่น พม่า ได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันพม่าเป็นปลายทางการลงทุนที่น่าสนใจของต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนพม่าก็ต้องการขยายธุรกิจเพิ่มด้วย

สำหรับการพัฒนาระบบการศึกษาไทยนั้น นายเพชร กล่าวว่า ปัจจุบัน ธุรกิจเป็นตัวนำ และการศึกษาเป็นสิ่งที่ตามมา ดังนั้น จึงต้องพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อไปรองรับการทำธุรกิจ แตกต่างจากสมัยก่อน ที่จะใช้การศึกษาเป็นตัวนำในการกำหนดทิศทางของธุรกิจ ดังนั้นหากไม่มีการปรับเปลี่ยนแนวคิดและการดำเนินการต่างๆ ก็จะไม่สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น สุดท้ายไทยจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาไม่ได้