posttoday

หักภาษีค่านายหน้า

25 ตุลาคม 2556

ธุรกิจในปัจจุบันมีการแข่งขันสูง การทำให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ หากเป็นสินค้าหรือบริการที่ผูกขาดก็คงไม่มีปัญหาเท่าใดนัก

ธุรกิจในปัจจุบันมีการแข่งขันสูง การทำให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ หากเป็นสินค้าหรือบริการที่ผูกขาดก็คงไม่มีปัญหาเท่าใดนัก แต่ถ้าต้องไปแย่งชิงเจ้าเก่าในตลาดแล้วละก็ เหนื่อยครับ! ดังนั้น กลยุทธ์ต่างๆ จึงถูกนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา ลดราคา แจก แถม การจ่ายค่านายหน้าให้แก่ผู้ที่หาลูกค้ามาให้ หรือวิธีอื่นๆ อีกจิปาถะ

นายหน้าอาจเป็นบุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีทั้งที่เป็นมือสมัครเล่นและมืออาชีพ โดยเฉพาะนายหน้าค้าที่ดิน บ้าน ที่อยู่อาศัย สินค้า หรือบริการอื่นๆ มีการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ หรือสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมาก อาชีพนายหน้าทำให้ร่ำรวยไปหลายรายทีเดียว

คำว่า “นายหน้า” ตามสาระสำคัญของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง “บุคคลที่ชี้ช่องให้บุคคลได้ทำสัญญากัน โดยที่นายหน้าจะได้รับค่าบำเหน็จเป็นการตอบแทน”

ผลตอบแทนที่นายหน้าได้รับมักเรียกว่า “ค่านายหน้า” ซึ่งได้รับจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ หรือได้รับจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ใช้บริการ ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงกัน ค่านายหน้าอาจเป็นเงิน สิ่งของ หรือผลตอบแทนในรูปแบบอื่นๆ

ค่านายหน้า เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินค่านายหน้ามีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สรุปได้ดังนี้

จ่ายค่านายหน้าให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่อยู่ในไทย

ผู้จ่ายเงินค่านายหน้าทุกราย เมื่อจ่ายค่านายหน้าให้บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลที่อยู่ในไทย ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยคิดคำนวณเหมือนการหักภาษีการจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน ทั้งนี้ ให้นำค่านายหน้าทั้งหมด หักออกด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน เหลือเท่าใดเป็นเงินได้สุทธิ แล้วจึงคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (เงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรกได้รับการยกเว้นภาษี) เมื่อคำนวณภาษีได้เท่าใดให้หักตามจำนวนนั้น หากไม่มีภาษีต้องชำระก็ไม่ต้องหักภาษี กรณีที่จ่ายค่านายหน้าให้บุคคลนั้นหลายครั้งใน 1 ปี ให้นำเงินค่านายหน้าทุกครั้งรวมกันแล้วคำนวณภาษีตามข้างต้น ได้จำนวนภาษีต้องชำระเท่าใด ให้หักออกด้วยภาษีที่ถูกหักไว้แล้วในครั้งก่อนๆ ก็จะได้จำนวนภาษีส่วนต่างที่ต้องหักไว้ในการจ่ายค่านายหน้าครั้งนี้

กรณีจ่ายเงินค่านายหน้าให้พนักงาน (รับเงินเดือน) ของตนเอง นายจ้างต้องนำค่านายหน้ารวมกับเงินเดือนทั้งปีเพื่อหาจำนวนเงินได้สุทธิ แล้วคำนวณภาษีเพื่อหาภาษีส่วนต่างที่ต้องหักนอกเหนือจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินเดือน

จ่ายค่านายหน้าให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มิได้อยู่ในไทย

ผู้จ่ายเงินค่านายหน้าทุกราย เมื่อจ่ายค่านายหน้าให้บุคคลที่มิได้อยู่ในไทย มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของค่านายหน้าที่จ่าย เว้นแต่บุคคลนั้นได้รับยกเว้นภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อน

จ่ายค่านายหน้าให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบการในไทย

ผู้จ่ายเงินค่านายหน้าที่เป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เมื่อจ่ายค่านายหน้าให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบการในไทย มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของค่านายหน้าที่จ่าย

จ่ายค่านายหน้าให้แก่มูลนิธิหรือสมาคมซึ่งประกอบการมีรายได้ ให้หักภาษีอัตราร้อยละ 10

จ่ายค่านายหน้าให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในไทย

ผู้จ่ายเงินค่านายหน้าทุกราย เมื่อจ่ายค่านายหน้าให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในไทย มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของค่านายหน้าที่จ่าย เว้นแต่ บริษัท ฯลฯ นั้นได้รับยกเว้นภาษีตามอนุสัญญาภาษีซ้อน

ผู้จ่ายเงินค่านายหน้ามีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามที่กล่าวมาเบื้องต้น สวัสดีครับ