posttoday

พี่น้องคร้าบบบ!!!หยุดจ่ายภาษีกันดีกว่า

27 ตุลาคม 2556

ไม่ได้ตั้งใจจะมาปลุกระดมมวลชนให้กระด้างกระเดื่องต่อ “ภาครัฐ” โดยการประท้วงหยุดจ่ายภาษี แค่จะมากระตุ้นเตือน “มนุษย์เงินเดือน” ทั้งหลายว่า มันมีช่องทางที่ทำให้เราไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทุกครั้งที่เงินเดือนออก

ไม่ได้ตั้งใจจะมาปลุกระดมมวลชนให้กระด้างกระเดื่องต่อ “ภาครัฐ” โดยการประท้วงหยุดจ่ายภาษี แค่จะมากระตุ้นเตือน “มนุษย์เงินเดือน” ทั้งหลายว่า มันมีช่องทางที่ทำให้เราไม่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทุกครั้งที่เงินเดือนออก

lภาษีที่ถูกหักทุกเดือน

แต่ก่อนจะไปรู้จักกับวิธีที่ทำให้ไม่ต้องถูกหักภาษีทุกเดือน เราต้องไปทำความเข้าใจกับ “เงินได้สุทธิ” ของมนุษย์เงินเดือนกันเสียก่อนว่า มีวิธีการคำนวณอย่างไร

เมื่อเป็นมนุษย์เงินเดือน ก็ต้องมีเงินเดือนเป็นรายได้หลัก แต่ถ้าจะให้ครบถ้วนเป็นเงินได้พึงประเมินก็ต้องนับรวมรายได้อื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น โบนัส เบี้ยเลี้ยง ค่าเช่า หรือเงินอื่นๆ ที่นายจ้างให้เป็นค่าจ้างทำงานเป็นครั้งคราว

หลังจากได้ตัวเลข “เงินได้พึงประเมิน” แล้ว ลำดับถัดไปก็ต้องหักค่าใช้จ่าย ซึ่งมนุษย์เงินเดือนสามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นอัตราเหมาได้ในอัตรา 40% ของรายได้ แต่ต้องไม่เกิน 6 หมื่นบาท

“บักหนอม” เจ้าของ “บล็อกภาษีข้างถนน” (tax.bugnoms.com) สรุปความแบบฟันธงไว้ในหนังสือตัดภาษีมีเงินออมว่า ไม่ว่าเราจะมีเงินได้มากเท่าไร ก็จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงสุดแค่เดือนละ 5,000 บาทเท่านั้น แต่ก็มีช่องทางอื่นที่ช่วยลดเงินได้สุทธิที่จะนำไปเป็นฐานในการคำนวณภาษีได้อีกจาก “ค่าลดหย่อน”

ค่าลดหย่อนตัวแรก คือ ค่าลดหย่อนตัว ได้สิทธินี้กันทุกคน คนละ 3 หมื่นบาท แต่ถ้าจะให้ได้มากกว่านี้ก็ขึ้นกับช่องทางที่เราจะสามารถนำไปลดหย่อนได้ เช่น การลดหย่อนตามสภาพของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็น สถานภาพสมรส จำนวนบุตร การดูแลบิดามารดา และผู้พิการ

ถัดจากนั้นก็จะเป็นค่าลดหย่อนรายการอื่นๆ เช่น เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เบี้ยประกันชีวิต การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน และเงินบริจาค

เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่มีแล้วก็จะได้ออกมาเป็นเงินได้สุทธิ แล้วจึงนำไปคำนวณหาจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายในปีนั้น

โดยทั่วไปนายจ้าง (หรือฝ่ายบัญชี หรือฝ่ายบุคคลของบริษัท) จะคำนวณว่า ในแต่ละปีพนักงานจะต้องเสียภาษีเท่าไร และหารออกมาเป็นจำนวนเงินภาษีที่จะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในแต่ละเดือน เช่น คำนวณภาษีที่ต้องจ่ายได้ 2.4 หมื่นบาท ก็จะหักออกจากเงินเดือน เดือนละ 2,000 บาท

แต่ส่วนใหญ่แล้ว นายจ้างจะไม่รู้ว่าลูกจ้างมี “ค่าลดหย่อน” รายการใดบ้าง ทำให้การคำนวณภาษีจะอ้างอิงเฉพาะรายการที่นายจ้างพอจะประเมินได้ เช่น ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนส่วนตัว เงินสมทบกองทุนประกันสังคม และเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อถึงเวลายื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามนุษย์เงินเดือนหลายคนจึงตั้งตารอ “เงินคืนภาษี” จากกรมสรรพากรอย่างใจจดใจจ่อ เพราะเรามีรายการลดหย่อนมากกว่าที่นายจ้างรู้ ทำให้นายจ้างหักภาษีไว้มากกว่าจำนวนภาษีที่เราต้องจ่ายจริง

แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราไม่ต้องอดทนรอเงินคืนแค่ปีละครั้ง

lไม่ต้องจ่ายภาษี

ในความเป็นจริงเราไม่ต้องรอจนถึงสิ้นปีก็สามารถ “เพิ่มกระแสเงินสดรับ” ได้ทุกเดือน เพียงแค่บอกให้นายจ้างรู้ว่า เรามีรายการลดหย่อนอะไรบ้าง แต่ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเดินเข้าไปบอกเฉยๆ ไม่ได้ แต่ต้องมี “แบบฟอร์ม”

แบบฟอร์มนี้คือ “แบบแจ้งรายการเพื่อการหักลดหย่อน” หรือ ล.ย.01 ซึ่งทุกบริษัทจะต้องมีแบบฟอร์มนี้ให้พนักงานกรอกรายละเอียดกันปีละครั้ง เพื่อแจ้งให้ฝ่ายบุคคลของบริษัทรู้ว่า เรามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้นำไปคำนวณภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายได้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

ในกรณีที่บริษัทไม่มีแบบฟอร์ม ล.ย.01 เราสามารถไปดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th) แล้วเลือก “บริการอิเล็กทรอนิกส์” และเลือกหัวข้อ Download

อย่างไรก็ตาม ศักดา สรรพปัญญาวงศ์ เขียนแนะนำไว้ใน aacademy.net ว่า ตัวเลขค่าลดหย่อนต่างๆ เป็นเพียงการประเมินและวางแผนการเงินของเราเองว่า ในปีนี้เราตั้งใจจะใช้สิทธิลดหย่อนอะไร จำนวนเงินเท่าไรบ้าง ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่ต้องยื่นแบบฯ ก็อาจจะมีคลาดเคลื่อนไปบ้าง ไม่ต้องกังวล เพราะเราสามารถจ่ายภาษีส่วนต่างเพิ่ม ถ้าใช้สิทธิลดหย่อนน้อยกว่าที่แจ้งไว้ หรืออาจจะได้รับเงินคืนเพิ่มขึ้นถ้าใช้สิทธิมากกว่าที่ตั้งใจไว้

จากกรณีตัวอย่าง มนุษย์เงินเดือนคนนี้มีเงินเดือน เดือนละ 5 หมื่นบาท บวกโบนัสอีก 5 หมื่นบาท รวมรายได้เท่ากับ 6.5 แสนบาท โดยมีค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่บริษัทรู้อยู่ 4 รายการ รวมเป็นเงิน 1.29 แสนบาท

ในกรณีแรก มนุษย์เงินเดือนคนนี้ ก็เหมือนกับมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ คือ ไม่ได้แจ้งรายการหักลดหย่อนเพิ่มเติมให้บริษัทรู้ ทำให้บริษัทคำนวณได้ว่า เขามีเงินได้สุทธิเท่ากับ 5.21 แสนบาท และจะต้องเสียภาษีรวม 3.92 หมื่นบาท (ตามอัตราภาษีใหม่) จึงหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เดือนละ 3,266.67 บาท

ดังนั้น ในแต่ละเดือนเขาจะไม่ได้รับเงินเดือนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยจะถูกหักเงินเดือนไปเป็นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเงินภาษี

ทั้งๆ ที่เขามีรายการหักลดหย่อนอื่นๆ อีก ได้แก่ เบี้ยประกันชีวิต กองทุน LTF กองทุน RMF และเงินบริจาค รวมเป็นค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน 3.39 แสนบาท ทำให้เขาเหลือเงินได้สุทธิ 3.11 แสนบาท และคำนวณเป็นภาษีที่ต้องเสียเหลือเพียง 8,600 บาท

เพราะฉะนั้นในปีนั้นเขาจะได้เงินภาษีที่หัก ณ ที่จ่าย คืน เท่ากับ 3.06 หมื่นบาท

แต่หากเขาเลือกที่จะยื่นแบบ ล.ย.01 ไว้ตั้งแต่ต้นปี เขาจะถูกหักภาษีเดือนละ 716.67 บาทเท่านั้น หรือเท่ากับว่า ในแต่ละเดือนมนุษย์เงินเดือนคนนี้จะมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น 2,550 บาท โดยไม่ต้องรอจนถึงสิ้นปี

เพราะฉะนั้นนับตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป อย่าลืมกรอกแบบฟอร์ม ล.ย.01 และนำไปยื่นให้ฝ่ายบุคคลได้จัดการคำนวณภาษีที่ถูกต้องจะดีกว่า

นอกจากนี้ ถ้านำเงินที่สามารถประหยัดภาษีได้ไปลงทุนก็จะยิ่งทำให้ได้ประโยชน์จากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินไปชำระหนี้ที่อัตราดอกเบี้ยสูงๆ ซึ่งจะทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนลงไปได้ หรือนำเงินไปลงทุนเป็นประจำ โดยการหักบัญชีเงินเดือนทันที ซึ่งอาจจะทำให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น

แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด ควรจะนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนในกองทุนรวมที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ไม่ว่าจะเป็นกองทุน LTF หรือกองทุน RMF เพราะเท่ากับว่า ได้ประโยชน์ถึง 2 ต่อ

Thailand Web Stat