วิจัยพืช "จีเอ็มโอ"คุ้มไหมที่จะเสี่ยง
สภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ส่งผลให้หลายประเทศประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ
โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล
สภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ส่งผลให้หลายประเทศประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ สร้างผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกพืช ประกอบกับราคาอาหารมีการปรับตัวสูงขึ้น เรื่องนี้เองที่ทำให้หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และเริ่มทบทวนนโยบายการต่อต้านพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ)
หนึ่งในนั้น รวมถึงประเทศไทยด้วย ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายกฎระเบียบการทดลองระดับแปลงเกษตรและโรงงานแปรรูปที่มีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอเพื่อทดลองขยายพันธุ์หรือเพื่อปลูกเท่านั้น โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและถั่วเหลืองที่มีความต้องการใช้ภายในประเทศจำนวนมาก
ทั้งนี้ ประเทศไทยส่งออกเมล็ดพันธุ์อยู่ที่ปีละ 9,306 ล้านบาท โดยตัวเลขการส่งออกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 1011% สำหรับพืชหลักในการส่งออกของไทย คือ ข้าวโพดไร่ มูลค่ามากที่สุด 1,600 ล้านบาท พืชผักที่สำคัญๆ เช่น มะเขือเทศ พริก แตงโม แตงกวา และข้าวโพดหวาน มีมูลค่าการส่งออก 1,700 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเมล็ดอย่างอื่น ขณะที่ความต้องการเมล็ดพันธุ์ในประเทศถึง 1.04 ล้านตันต่อปี เป็นข้าวโพด 2.15 หมื่นตันต่อปี ถั่วเหลือง 8,000 ตัน
วิภา หอมหวล หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร แสดงความเห็นว่า เรื่องพืชจีเอ็มโอไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย เพราะที่ผ่านมาก็มีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พืชจากต่างประเทศเข้ามาอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเองก็มีศักยภาพพอที่จะพัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศ และในอนาคตมองว่าพืชจีเอ็มโอจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านเรา ทั้งจีน พม่า และเวียดนาม ต่างก็ให้การยอมรับพืชจีเอ็มโอมากขึ้นแล้ว
“ความจริงพืชจีเอ็มโอเข้ามาในประเทศไทยกว่า 10 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีการส่งเสริมให้ทดลองพัฒนาเมล็ดพันธุ์เหล่านี้อย่างจริงจัง เพราะติดในเงื่อนไขต่างๆ เชื่อว่าหากสามารถพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสมก็จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารในอนาคตได้” วิภา กล่าว
สำหรับโครงการวิจัยทดสอบข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมสายพันธุ์ NK603 ในแปลงทดลองแบบเปิดของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งถือเป็นกรณีแรกๆ ของไทยที่ได้ผ่านการพิจารณาในชั้นคณะอนุกรรมการของกรมวิชาการเกษตร แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป
การทดลองนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวรกับบริษัทเอกชนผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช ทำการทดลองปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอสายพันธุ์ NK603 ที่ผ่านการพิสูจน์ในเชิงประวัติศาสตร์การใช้แล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสามารถต้านทานยาฆ่าแมลงศัตรูพืชได้ในแปลงทดลองแบบเปิด เพื่อพัฒนาด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ
ขณะที่ อนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเคยมีชื่อเสียงในการปรับปรุงพันธุ์พืชมายาวนาน โดยปี 2476 ประเทศไทยเคยได้รับรางวัลชนะเลิศประกวดพันธุ์ข้าวคือ พันธุ์ข้าวปิ่นแก้ว และมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวของไทยอย่างต่อเนื่อง ต่อมามีภาคเอกชนหลายบริษัทมาผลิต ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกเมล็ดพันธุ์มากขึ้น เราจึงหันไปพึ่งพาการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พืชที่มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์แทน จนทำให้ทุกวันนี้ประเทศไทยแทบไม่มีงานวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์ ทั้งที่ประเทศไทยมีพันธุ์ที่เข้มแข็งและเกษตรกรมีทักษะที่พร้อม
“จริงๆแล้วนักวิชาการของไทยมีความพร้อมที่จะทำการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชจีเอ็มโอ แต่กฎระเบียบไม่เอื้อต่อการทำงาน เพราะไทยห้ามวิจัยพืชจีเอ็มโอ จึงเกิดการหยุดชะงักทั้งๆ ที่เราตั้งเป้าจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเมล็ดพันธุ์พืชในอาเซียน (ซี้ดฮับ) จึงอยากเสนอให้ออกระเบียบภายใต้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยรับฟังและหารือร่วมกันกับทุกภาคส่วน คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี การจะเดินหน้าต่อหรือถอยหลังของการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอก็ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ว่าสุดท้ายแล้วคุ้มที่จะเสี่ยงหรือไม่ ระหว่างการที่จะได้เมล็ดพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ต้านทานโรคและยาฆ่าแมลงได้ดี ซึ่งหากมองอีกมุมก็อาจจะทำให้ต้องใช้ยาฆ่าแมลงในปริมาณที่เพิ่มขึ้น