จ่ายค่านายหน้าไปต่างประเทศ & ภาษี

13 ธันวาคม 2556

การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการ นอกจากจะหาลูกค้าหรือหาตลาดด้วยตนเองแล้ว การให้ผู้อื่นหาลูกค้าหรือแนะนำลูกค้าให้ก็เป็นช่องทางหนึ่งของการขายสินค้าหรือให้บริการ แต่ผู้ที่ติดต่อหาลูกค้ามาให้คงไม่ได้ทำให้ฟรี การจ่ายเงินค่านายหน้าจึงเป็นสิ่งที่ต้องยอมเสียเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า โดยเฉพาะการหาลูกค้าในต่างประเทศ ถ้าเดินทางไปหาลูกค้าเองก็จะเป็นเรื่องที่หนักหนาเอาการอยู่เหมือนกัน

การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการ นอกจากจะหาลูกค้าหรือหาตลาดด้วยตนเองแล้ว การให้ผู้อื่นหาลูกค้าหรือแนะนำลูกค้าให้ก็เป็นช่องทางหนึ่งของการขายสินค้าหรือให้บริการ แต่ผู้ที่ติดต่อหาลูกค้ามาให้คงไม่ได้ทำให้ฟรี การจ่ายเงินค่านายหน้าจึงเป็นสิ่งที่ต้องยอมเสียเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า โดยเฉพาะการหาลูกค้าในต่างประเทศ ถ้าเดินทางไปหาลูกค้าเองก็จะเป็นเรื่องที่หนักหนาเอาการอยู่เหมือนกัน

บางท่านบอกว่าใช้วิธีโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ในประเทศนั้น หรือโฆษณาผ่านเว็บไซต์ก็น่าจะพอแล้ว ซึ่งก็จริงอยู่บ้างในบางธุรกิจ แต่การที่มีนายหน้าในต่างประเทศเป็นผู้ชักจูงหรือนำเสนอก็จะมีน้ำหนักหรือจูงใจได้ดีทีเดียว ธุรกิจที่ขายสินค้าหรือให้บริการกับลูกค้าในต่างประเทศจึงยอมจ่ายค่านายหน้า หรือที่เรามักเรียกว่า Commission งานอะไรที่ตนเองไม่ถนัดหรือถ้าทำแล้วค่าใช้จ่ายสูง ก็ควรให้คนอื่นทำให้ดีกว่า จะได้ประหยัดและมีเวลาไปทำงานอื่น

ค่านายหน้า เป็นค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้เข้าทำสัญญา หรือจัดการให้ได้ทำสัญญากัน พูดง่ายๆ ก็คือ ได้ชี้ช่องให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการได้ทำสัญญาซื้อขายสินค้าหรือให้บริการกับลูกค้าที่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการ เมื่อสำเร็จตามวัตถุประสงค์แล้ว ผู้ใช้บริการนายหน้าก็จะจ่ายเงินค่านายหน้าหรือค่าบริการให้แก่นายหน้า ผู้ที่จ่ายเงินค่านายหน้าอาจเป็นผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการหรือลูกค้าที่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าได้ตกลงกันไว้อย่างไร

ค่านายหน้า ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ครั้งนี้จะเป็นกรณีที่ผู้จ่ายเงินที่อยู่ในประเทศไทยได้จ่ายเงินค่านายหน้าไปให้แก่นายหน้าที่ประกอบการเป็นนายหน้าในต่างประเทศ กฎหมายได้ระบุให้ผู้จ่ายเงินค่านายหน้ามีหน้าที่ทางภาษี สรุปได้ดังนี้

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายเงินทุกราย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หน่วยงานของรัฐหรือนิติบุคคลอื่นใดก็ตาม หากได้จ่ายเงินค่านายหน้าให้แก่นายหน้าที่อยู่ในต่างประเทศและนายหน้านั้นได้หาลูกค้าในต่างประเทศ ไม่ว่าผู้รับเงินค่านายหน้าจะเป็นบุคคลธรรมดา บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และจะมารับเงินค่านายหน้าในประเทศไทยเองหรือไม่ก็ตาม ผู้จ่ายเงินค่านายหน้าทุกรายต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) และมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่ผู้รับเงินค่านายหน้าเป็นบุคคลธรรมดา ให้นำส่งภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด. 1 แต่ถ้าผู้รับเงินค่านายหน้าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้นำส่งภาษีด้วยแบบ ภ.ง.ด. 54 ทั้งนี้ ให้นำส่งภาษีภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนที่จ่ายเงินค่านายหน้า เช่น จ่ายค่านายหน้าในเดือน ธ.ค. 2556 ต้องนำส่งภาษีภายในวันที่ 7 ม.ค. 2557

สำหรับผู้รับเงินค่านายหน้า หากมีถิ่นที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย และนายหน้านั้นไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ค่านายหน้านั้น ถือว่าเป็นกำไรธุรกิจ ผู้จ่ายเงินค่านายหน้าไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้จ่ายเงินทุกรายที่จ่ายเงินค่านายหน้าให้แก่นายหน้าที่อยู่ในต่างประเทศและนายหน้านั้นได้หาลูกค้าในต่างประเทศ ไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะเป็นการให้บริการในต่างประเทศและใช้บริการในต่างประเทศ แต่ถ้าได้จ่ายเงินค่านายหน้าให้แก่นายหน้าที่อยู่ในต่างประเทศและนายหน้านั้นได้หาลูกค้าที่อยู่ในประเทศไทย ผู้จ่ายเงินค่านายหน้าต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ให้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยแบบ ภ.พ. 36 ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนที่จ่ายเงินค่านายหน้าเช่นเดียวกับการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับใบเสร็จรับเงินที่กรมสรรพากรออกให้จากการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นใบกำกับภาษีซื้อในเดือนที่มีการยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม

ผู้ประกอบการหรือผู้จ่ายเงินค่านายหน้าให้แก่นายหน้าที่อยู่ในต่างประเทศ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กล่าวมาข้างต้น สวัสดีครับ

Thailand Web Stat