"มาลี"งัดกลยุทธ์ หาผู้ร่วมทุนปิดจุดเสี่ยงเพิ่มกำไร

30 ธันวาคม 2556

โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง

โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง

บริษัท มาลีสามพราน (MALEE) เร่งปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ สร้างความแข็งแกร่งก่อนเดินหน้าหาผู้ร่วมทุนกลางปี 2557 ต่อยอดให้กิจการเติบโตอย่างยั่งยืน

“รุ่งฉัตร บุญรัตน์” กรรมการและรองผู้จัดการใหญ่สายการขายและการตลาด บริษัท มาลีสามพราน ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2557 จะเป็นปีที่บริษัทเริ่มเข้าสู่การเติบโตหลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจในปี 2556 โดยบริษัทใช้เวลาในการปรับตัวลดการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) โดยเฉพาะงานประเภทกระป๋อง และหันมาเพิ่มการพัฒนาสูตรและผลิตให้กับพันธมิตรหรือลูกค้ามากขึ้น (คอนแทรกต์ แมนูแฟกเจอริง แบรนด์) รวมทั้งการเพิ่มกลยุทธ์ เน้นงานวิจัยและพัฒนา พร้อมสร้างการรับรู้แบรนด์ให้มากขึ้น

บริษัทได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 300 ล้านลิตร/ปี เสร็จเรียบร้อยแล้ว จากเดิมอยู่ที่ 193 ล้านลิตร/ปี หลังจากใช้เงินลงทุนจำนวน 400 ล้านบาท ในการซื้อเครื่องจักรเพื่อรองรับการผลิตและร่วมพัฒนาสูตรกับลูกค้า ซึ่งปี 2557 บริษัทต้องหาพันธมิตรประเภทนี้เพิ่มเข้ามามากขึ้น เนื่องจากบริษัทใช้กำลังการผลิตเพียง 50% ของกำลังการผลิตใหม่

“การผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ตัวเองและการพัฒนาผลิตร่วมกับคู่ค้ามากขึ้น จะทำให้บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิที่ดีขึ้น และมากกว่ากว่ารับจ้างผลิตเพียงอย่างเดียว ที่มีความเสี่ยงเรื่องคำสั่งซื้อและรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอ” รุ่งฉัตร กล่าว

ในปี 2557 บริษัทมองแบบอนุรักษนิยม คาดว่ารายได้จะเติบโตได้มากกว่า 10% ส่วนปี 2556 ยอมรับว่ารายได้และกำไรสุทธิทำได้น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเท่าไร ส่วนหนึ่งมาจากกำลังซื้อที่เริ่มหดตัวมาตั้งแต่เดือน ต.ค. ที่เริ่มมีการชุมนุมทางการเมืองอาจทำให้คนไม่กล้าจับจ่าย ทั้งๆ ที่เป็นช่วงไฮซีซั่นเทศกาลปีใหม่ ซึ่งทั้งอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบนี้เหมือนกันหมด นอกจากนั้น ในปี 2555 บริษัทมียอดขายสูงมากจนสัดส่วนโออีเอ็มถึง 65% เพราะคู่แข่งส่งลูกค้ามาให้ เนื่องจากเจอปัญหาน้ำท่วมในปลายปี 2554 ตอนนี้คำสั่งซื้อส่วนนี้ก็กลับไป และในปี 2556 บริษัทมีสัดส่วนโออีเอ็มกับการผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์มาลีมีสัดส่วนเท่ากันที่ 50% แล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้ปรับนโยบายการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตรแปรรูปส่งออกในรูปการรับจ้าง ได้แก่ ข้าวโพดหวานกระป๋องและสับปะรดกระป๋อง จากเดิมผลิตเองเป็นจ้างผลิตหรือซื้อจากภายนอกมาจำหน่ายต่อ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกำไร และลดความเสี่ยงทางธุรกิจ บริษัทจึงหยุดการดำเนินงานโรงงานผลิตข้าวโพดหวานของบริษัท อะกริ ซอล มีกำลังการผลิตข้าวโพดหวานกระป๋อง 2.4 ล้านหีบ/ปี ตั้งแต่ภายในวันที่ 30 ธ.ค.นี้

“ฉัตรชัย บุญรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MALEE กล่าวว่า ตอนนี้เริ่มเข้าไปทดสอบผลผลิตต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว พม่า และกัมพูชา คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปกลางปี 2557 ว่าจะตัดสินใจร่วมทุนทำธุรกิจกับใคร โดยจะเลือกบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเดียวกันกับมาลี ส่วนหนึ่งก็เพื่อขยายตลาด อีกเหตุผลหนึ่งเพื่อช่วยลดต้นทุนด้านวัตถุดิบ แต่ถ้าจะไปที่ไหนก็ควรหาเจ้าบ้านประเทศนั่นเพื่อร่วมทุนกันทำธุรกิจ แต่กว่าจะได้ข้อสรุปต้องรอเป็นปี

ทั้งนี้ เมื่อเดือน พ.ย. บริษัทเพิ่มการลงทุนในบริษัท ไพร์ม อะกริโค เป็น 50% จากเดิม 35% ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจด้านเกษตรและอาหาร และมีการปลูกผักในภาคเหนือของไทยอยู่แล้ว รวมทั้งเจ้าของก็มีการลงทุนที่อิสราเอลซึ่งปกติเป็นที่ขึ้นชื่อในการปลูกผักและผลไม้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

สำหรับเรื่องสภาพคล่องของหุ้นนั้น ตอนนี้บริษัทยังไม่มีแนวทางอะไรเพิ่มเติมหลังจากเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) จากหุ้นละ 2 บาท เป็น 1 บาท เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ปริมาณหุ้นก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุน เพราะเมื่อแตกพาร์แล้ว กองทุนต่างประเทศ รวมถึงมอร์แกน สแตนเลย์ได้เข้ามาซื้อเก็บเพิ่ม ปัจจุบันยังมีนักลงทุนสถาบันต่างประเทศเข้ามาพบบริษัทอย่างต่อเนื่อง

“ตั้งแต่บริษัทปรับโครงสร้างธุรกิจและมีผลประกอบการที่เติบโตจนติดอันดับ 50 บริษัทแรกตลอดปี 2556 และตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าไปอยู่ในการคำนวณของ MSCI Global Small Cap จึงมีสถาบันต่างประเทศเข้ามาขอเยี่ยมชมกิจการและโทรศัพท์มาสอบถามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่สนใจซื้อเก็บไว้เก็บยาว ขณะที่บริษัทก็ได้เรียนรู้ในหลายๆ เรื่องจากกองทุนต่างชาติ เพราะมักสอบถามถึงอนาคตในระยะยาวเป็นหลัก และมักแลกเปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจหรือการวิเคราะห์ต่างๆ กับเรา แต่เรื่องหุ้นคงจะทำอะไรไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกปกติของตลาดมากกว่า ราคาหุ้นตอนนี้ก็ปรับตัวลงเหมือนตลาดโดยรวม” ฉัตรชัย กล่าว

Thailand Web Stat