ไก่ประดู่หางดำเพิ่มมูลค่า อาชีพเสริมเกษตรกร
ภาพวิถีชีวิตของเกษตรกรในชนบทที่นิยมเลี้ยงไก่ไว้ตามบ้านเป็นเรื่องที่คุ้นชินของคนไทยเป็นอย่างดี
โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล
ภาพวิถีชีวิตของเกษตรกรในชนบทที่นิยมเลี้ยงไก่ไว้ตามบ้านเป็นเรื่องที่คุ้นชินของคนไทยเป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือนเองแล้ว ปัจจุบันการเลี้ยงไก่บ้านยังเป็นการสร้างรายได้แก่ครัวเรือนและชุมชนอีกทางด้วย
“ไก่ประดู่หางดำ” เป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ ที่ขณะนี้กำลังได้รับความนิยม เนื่องจากเป็นสายพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิม มีขนาดตัวเมื่อโตเต็มที่เฉลี่ยอยู่ที่ 23 กิโลกรัม และมีรสชาติเฉพาะตัวเป็นที่จดจำได้ต่างจากไก่เนื้อขาวปกติ รวมทั้งยังมีคุณภาพที่ดีกว่าไก่เนื้อขาวทั่วไป เนื่องจากไก่เหล่านี้ส่วนใหญ่เลี้ยงแบบธรรมชาติ หรือหากเป็นไก่ขุนก็จะใช้อาหารที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเลี้ยง จึงทำให้เนื้อไก่ที่ได้มีความปลอดภัย
จันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ จึงตั้งโครงการระบบการสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำอย่างยั่งยืนขึ้นมา ซึ่งเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางการเกษตรให้แก่เกษตรกร โดยนำงานวิจัยที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริงมาปรับใช้และเผยแพร่
เบื้องต้นได้มีการนำร่องส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้สู่เกษตรกรในพื้นที่การผลิต 7 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ และเพชรบุรี ในการนำองค์ความรู้ไปบูรณาการด้านการผลิตไก่พื้นเมือง สร้างอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น
นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มมูลค่าในการผลิตเชิงพาณิชย์ให้แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นการสร้างศักยภาพในการสร้างตลาดจากคุณค่าทางด้านรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการให้กับสินค้า เพราะไก่บ้านอย่าง ไก่ประดู่หางดำ นอกจากจะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์สวยงามแล้ว ยังสามารถใช้เป็นอาหารได้อีกด้วย
“ปัจจุบันมีเกษตรกรกว่า 200 ราย เข้าร่วมโครงการและสามารถสร้างรายได้เสริมให้แก่ครัวเรือนจากผลผลิตที่มีลักษณะการผลิตโดยธรรมชาติที่มีความปลอดภัย เป็นที่รับรู้และตอบรับจากตลาดจนขยายโอกาสทางการตลาดสู่ตลาดระดับกลางและระดับบน จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์ทางการค้า ‘ไก่นิลล้านนา’ ได้” จันทร์จรัส กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อการขับเคลื่อนระบบการสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำอย่างยั่งยืน ในปีนี้ สกว.จึงมุ่งเน้นต่อยอดงานวิจัยเพิ่มเติมไปถึงเรื่องของการจัดการปลายทาง เพื่อหารูปแบบและคุณภาพที่ผู้บริโภคต้องการ รวมทั้งทดสอบระบบกิจการเพื่อสังคมเสริมเข้าไปด้วย
ดังนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของตลาด รวมถึงต้องมีระบบการจัดการทั้งการผลิตและการตลาดที่ดี เพื่อให้มีการผลิตและการบริโภคสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการแข่งขันด้านราคากับไก่เนื้อขาวปกติ
ทว่า ในมุมมองของภาคเอกชนได้ให้ความเห็นไว้ว่า ไก่พื้นเมืองสายพันธุ์ผสม เช่น ไก่ตะนาวศรีและไก่เบตง พบว่า ขายได้แต่ไม่สามารถแข่งขันกับไก่เนื้อ (ขาว) ได้ เพราะไก่พื้นเมืองขายแบบยกตัว และยังขาดการประชาสัมพันธ์ เพื่อการตลาดและมาตรฐานความปลอดภัยที่ผู้บริโภคยอมรับ
อย่างไรก็ดี สกว.ยังเห็นว่า ไก่พื้นเมืองเหล่านี้ยังมีโอกาสในตลาดอยู่ จึงได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์นำไก่ประดู่หางดำมาจำหน่าย โดยได้พยายามพัฒนารูปแบบการจำหน่ายใหม่ๆ คือ การแปรรูปขายแบบแยกชิ้นส่วน รวมทั้งทำเป็นรูปแบบพร้อมรับประทาน เช่น หมักแบบตะวันตก เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภครุ่นใหม่
ขณะเดียวกัน ก็ยังคงจำหน่ายแบบยกตัวด้วย เนื่องจากเป็นที่นิยมของคนในพื้นที่และต้องการช่วยเหลือเกษตรกร รวมทั้งต่อไปจะมีการหาความแตกต่างในตัวสินค้าของไก่พื้นเมือง 4 สายพันธุ์ และทำการส่งเสริมการขายและสื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจ เพื่อให้เกิดส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นและเกิดความยั่งยืนสู่เกษตรกรต่อไป