เจาะใจครูพม่าในไทย
“พม่าในวันนี้ต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อนมาก มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะความสะดวกสบายด้านการเดินทาง จากสมัยก่อนระยะทาง 200 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเป็นวัน ตอนนี้เหลือไม่กี่ชั่วโมง เป็นการเติบโตเร็วจนน่าตกใจ”
“พม่าในวันนี้ต่างจากเมื่อ 10 ปีก่อนมาก มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะความสะดวกสบายด้านการเดินทาง จากสมัยก่อนระยะทาง 200 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเป็นวัน ตอนนี้เหลือไม่กี่ชั่วโมง เป็นการเติบโตเร็วจนน่าตกใจ”
นี่เป็นเสียงสะท้อนจาก เมน โทน นัย อาจารย์สอนภาษาพม่าที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี
เมน โทน นัย หรือชื่อไทยคือ “ชัย” ขยายความว่า คนภายนอกอาจมองว่า พม่าวันนี้โตเร็วมาก แต่นั่นเป็นเพียงภาพภายนอกเท่านั้น แต่หากมองลึกไปถึงโครงสร้างภายในแล้ว ยังพัฒนาอย่างล่าช้า เพราะยังมีความเหลื่อมล้ำในสังคมอยู่มาก
แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ตลาดงานพม่ายังมีโอกาสและรองรับคนท้องถิ่นน้อยมาก คนจบปริญญาตรีมีเงินเดือนเริ่มต้นแค่ 2,000-3,000 บาท หมอได้เงินเดือนเพียง 3,000-4,000 บาท ขณะที่เงินเดือนในบริษัทเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นต่างชาติ เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่ 5,000-6,000 บาท ชาวพม่าจึงแข่งกันเพื่อทำงานในบริษัทแบบนี้
สถานการณ์แบบนี้ จึงเป็นแรงจูงใจให้คนพม่าส่วนใหญ่ตัดสินใจและยอมเสี่ยงเดินทางมาหางานทำในประเทศไทยทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย เพราะมีรายได้ขั้นต่ำวันละ 300 บาท รวมทั้งเดือนได้มากถึง 9,000 บาท สูงกว่าทำงานอยู่ในพม่าหลายเท่าตัว อีกทั้งยังมีเงินเหลือ พอที่จะส่งกลับให้ครอบครัวในพม่าได้แบบสบายๆ
“หลังรวมประชาคมอาเซียน เชื่อว่าแรงงานพม่ายังไม่คิดกลับไปทำงานที่พม่า เพราะค่าจ้างไทยยังดึงดูดใจมาก แต่อาจมี 5-10% ที่อาจเก็บเงินได้สักก้อนแล้วไปลงทุนทำกิจการของตัวเอง หรือย้ายงานตามบริษัทที่ไปขยายงานในพม่า”
เมื่อถามถึงชีวิตของตัวเอง เมน โทน นัย เล่าว่า เข้ามาหางานทำในเมืองไทยครั้งแรกเมื่อปี 2537 ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย อยู่ประมาณ 6 ปี ก่อนกลับไปอยู่พม่า และเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2544 ผ่านระบบนายหน้า โดยต้องเดินเท้านานถึง 7 วัน ลัดเลาะตามป่าจากพม่าผ่านด่านชายแดนแม่สอด จ.ตาก ไปถึง จ.กำแพงเพชร เพื่อนั่งรถเข้ากรุงเทพฯ แต่ถือว่าโชคดีมาก เพราะหลังจากนั้น 3 เดือน ประเทศไทยเปิดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย เขาจึงเป็นแรงงานพม่ารุ่นแรกแบบถูกกฎหมาย
“ตอนมาแรกๆ ผมทำงานทุกอย่าง ทั้งก่อสร้าง ทำสวน งานรับจ้างทั่วไป ผมยอมรับว่าช่วงแรกการไม่เข้าใจวัฒนธรรมบางอย่างทำให้มีปัญหาเหมือนกัน เช่น คนไทยยกมือไหว้ทักทายกัน แต่คนพม่าถือว่าการไหว้หมายถึง การเคารพพ่อแม่ ครูอาจารย์หรือไม่ก็พระ ทำให้มาแรกๆ ถูกมองว่าเป็นคนมือไม้แข็ง”
ส่วนเส้นทางการเป็นครูนั้น เขาเริ่มเรียนภาษาไทยอย่างจริงจังเมื่อปี 2546 ก่อนนี้ไปเป็นอาสาสมัครในมูลนิธิช่วยเหลือแรงงานพม่าที่ได้รับความเดือดร้อนในประเทศไทย ทำหน้าที่ช่วยสอนภาษาไทยให้แรงงานพม่า ก่อนจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์จนกลายเป็นอาจารย์สอนพิเศษภาษาพม่าให้กับหน่วยงานและองค์กรเอกชนต่างๆ ของไทยในปัจจุบัน
ในฐานะครูภาษา เขามองว่า คนพม่ามีความตั้งใจและกระตือรือร้นที่จะเรียนภาษาไทยมากกว่าคนไทยที่คิดจะเรียนภาษาพม่า อาจเป็นเพราะคนไทยมีอคติมองว่า พม่ายังด้อยกว่า จึงไม่ให้ความสำคัญที่จะเรียนรู้นัก