posttoday

เปลี่ยนความฝันให้เป็นเป้าหมาย

01 มิถุนายน 2557

เราทุกคนมีความฝัน และความฝันก็จะอยู่กับเราตลอดไป เหมือนกับที่ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล กล่าว

เราทุกคนมีความฝัน และความฝันก็จะอยู่กับเราตลอดไป เหมือนกับที่ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล กล่าวทิ้งท้ายไว้ในตอนสุดท้ายของรายการ The Expert ปลุกฝัน 2

แต่ทำไมบางคนไม่กล้าฝัน หรือหลายคนฝันแล้วแต่ก็ขอเก็บเอาไว้ลึกๆ ไม่เคยคิดที่จะทำให้กลายเป็นความจริง จนบางครั้งก็ลืมไปแล้วว่า เราก็มีความฝันแบบนี้อยู่ในใจ

แนะนำให้ไปย้อนดูรายการ The Expert ปลุกฝัน 2 (รายการจบไปนานแล้ว แต่สามารถหาดูได้ใน YouTube) รับรองว่า นอกจากจะเสียน้ำตาไปหลายหยดให้กับ “คนต้นฝัน” แล้ว ยังจะได้ “ปลุกฝัน” ของเราขึ้นมา สมกับความตั้งใจของผู้ผลิตรายการแน่นอน

“รายการเกิดขึ้นมาเพราะต้องการปลุกฝัน เราทุกคนมีความฝันอยู่แล้ว แต่บางคนเป็นความฝันที่อยู่ในใจ และคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถพอที่จะทำเรื่องนั้นได้ อยากจะบอกทุกคนว่า กล้าเถอะ ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่คิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ ลองทำดูก่อน” ทวี ธีระสุนทรวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในฐานะ The Expert Leader ประจำรายการ

เพราะ “ความกล้า” เป็นปัจจัยแรกที่จะทำให้ความฝันกลายเป็นความจริง

“ถ้าใจเราบอกว่า ทำได้ ก็เชื่อว่าเกิน 50% ไปแล้วที่เราจะทำได้ ที่เหลือก็แค่เอาร่างกายของเราไปทำต่อเท่านั้นเอง” ทวี กล่าว

เมื่อฝันกลายเป็นเป้าหมาย

และสิ่งที่ “ร่างกาย” จะต้องลงมือทำคือเปลี่ยนจาก “ความฝัน” (Dream) มาเป็น “เป้าหมาย” (Goal)

เพราะความฝันยังเป็นเพียงแค่ความคิด เป็นความหวังที่ยังไม่ได้ลงมือทำ แต่เป้าหมายคือสิ่งที่เราตั้งใจมุ่งมั่นจะทำให้สำเร็จให้ได้

เป้าหมายที่ดีจะต้องเป็นเป้าหมายที่ SMART โดย tsithailand.org แนะนำไว้ว่า เป้าหมายที่ SMART คือ เป้าหมายที่มีองค์ประกอบต่อไปนี้

มีความชัดเจน (Specific)

เป้าหมายที่ดีต้องบอกให้ชัดว่า เป้าหมายของเราหน้าตาเป็นแบบไหน ไม่คลุมเครือ เช่น ถ้าเป้าหมายเราคือซื้อรถยนต์ ต้องบอกให้ได้ว่า รถยนต์คันนั้นคือรถอะไร รุ่นอะไร สีอะไร และราคาเท่าไร เพื่อให้เป้าหมายนั้นสามารถ “จับต้องได้”

สามารถวัดผลได้ (Measurable)

เป้าหมายที่ดีต้องตีค่าเป้าหมายของเราออกมาเป็นตัวเงิน เพราะเป้าหมายที่ดีต้องสามารถวัดผลเป็นตัวเงินหรือตัวเลขได้อย่างชัดเจน เพื่อให้รู้ว่าต้องเก็บเงินอีกแค่ไหน และยังทำให้สามารถติดตามความก้าวหน้าในการเดินตามเป้าหมาย และบอกได้ว่าอีกไกลแค่ไหนกว่าจะไปถึงเป้าหมาย

มีความรับผิดชอบและลงมือทำจริง (Accountable)

เป้าหมายที่ดีต้องสามารถทำให้สำเร็จได้ โดยรู้วิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมาย และมีความรับผิดชอบที่จะทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จ

แต่ก็ไม่ควรจะเป็น “เป้าหมายที่ธรรมดาเกินไป” เพราะเมื่อมีเป้าหมายที่ง่ายและเห็นอยู่ว่าประสบความสำเร็จได้ไม่ยากก็อาจจะไม่กระตือรือร้นที่จะเดินตามเป้าหมาย และอาจจะหยุดที่จะก้าวต่อไปเมื่อเป้าหมายธรรมดาๆ นั้นประสบความสำเร็จแล้ว

สมเหตุสมผลและมีโอกาสเป็นได้จริง (Realistic)

เป้าหมายที่ดีต้องเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ มีความสมเหตุสมผล สอดคล้องกับความเป็นจริงในชีวิต

จริงอยู่ว่า คนเราจะต้อง “ฝันให้ไกล” และต้องไปให้ถึง แต่อย่าลืมประเมินศักยภาพภาพของตัวเองด้วยว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นยากเกินไปหรือไม่ มันเป็นฝันลมๆ แล้งๆ หรือไม่ ทำได้จริงหรือไม่

เช่น ถ้าฝันจะซื้อบ้านราคา 10 ล้านบาท ภายในเวลา 1 ปี ทั้งๆ ที่รายได้อยู่ในหลักหมื่นต้นๆ ก็คงมีโอกาสเป็นไปได้ยาก และยังเป็นการบั่นทอนกำลังใจในการเดินไปสู่เป้าหมายได้เช่นเดียวกัน

มีกำหนดเวลา (Time Bound)   

เป้าหมายที่ดีต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะบรรลุเป้าหมาย

แต่หลายคนใจร้อนอยากจะเห็นผลสำเร็จในระยะเวลาที่สั้นๆ ทำให้เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ก็อาจจะทำให้ยังไปไม่ถึงเป้าหมายตามที่ตั้งใจ จนต้องยอมถอดใจไปก่อนจะบรรลุเป้าหมาย หรือการเร่งระยะเวลาอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตในด้านอื่นๆ เพราะฉะนั้นอย่าใจร้อนเกินไป

เพราะฉะนั้น ถ้าเราตั้งเป้าหมายแค่ว่า “ปีนี้จะเก็บเงินเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศ” ก็ยังไม่ใช่เป้าหมายที่ SMART เพราะถ้าจะให้ SMART ต้องเปลี่ยนเป็น

“เราจะเก็บเงินเพื่อไปเที่ยวยุโรป (S) จำนวน 1.2 แสนบาท (M) โดยจะเก็บเงิน (A) เดือนละ 5,000 บาท (R) เป็นเวลา 24 เดือน (T)”

สะพานเชื่อมความฝันกับความจริง

โจนาธาน เวลล์ นักสร้างแรงบันดาลใจ (www.AdvancedLifeSkills.com) ที่ประกาศตัวว่า เป้าหมายของเขา คือ ช่วยให้ผู้คนบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น แนะนำเคล็ดลับที่จะเชื่อมโลกแห่งความฝันหรือจินตนาการกับโลกแห่งความจริง เอาไว้ 5 ข้อ ได้แก่

1.เขียนเป้าหมาย

เพราะแม้ว่าเราจะมีเป้าหมายที่ SMART แล้ว แต่ถ้าเก็บเป้าหมายอันนั้นไว้ในใจ ในที่สุดเป้าหมายนั้นก็จะอยู่ในใจแต่ไม่กลายเป็นจริง โจนาธาน จึงแนะนำให้เขียนเป้าหมายลงในกระดาษ

จากนั้นก็นำกระดาษเป้าหมายของเราไปแปะไว้ในที่ที่เราจะมองเห็นเป็นประจำ เช่น ประตูหน้าบ้านจะได้มองเห็นทุกครั้งที่จะก้าวเท้าออกจากบ้านหน้าตู้เย็นเพื่อให้เราเห็นทุกครั้งที่เปิดตู้เย็นหน้าคอมพิวเตอร์เพื่อให้เราได้เห็นทุกครั้งที่ทำงาน

2.แบ่งเป้าหมายออกเป็นส่วนเล็กๆ

โจนาธาน บอกว่า ถ้าไม่รู้ว่าจะแบ่งเป้าหมายยิ่งใหญ่ของเราออกมาเป็นส่วนเล็กๆ ได้อย่างไร ให้คิดถึงการสร้างบ้านสักหลัง ซึ่งจะประกอบด้วยหลายๆ ส่วน ตั้งแต่ต้นเสา คาน กำแพง หลังคา ผนัง และอื่นๆ อีกหลายส่วน ซึ่งต้องวางแผนว่าจะสร้างส่วนไหนก่อน และแต่ละส่วนจะใช้เวลากี่วันถึงจะเรียบร้อย จากนั้นเมื่อประกอบทุกส่วนเข้าด้วยกันแล้ว เราก็จะได้บ้านหลังงามอย่างที่ตั้งใจ

ส่วนประกอบของเป้าหมายเราก็เช่นกัน ต้องแบ่งเป้าหมายออกเป็นหลายๆ ขั้น อาจจะแบ่งเป็นจำนวนเงิน หรือแบ่งตามระยะเวลาก็ได้ เช่น เป้าหมายไปเที่ยวยุโรปของเรา ก็แบ่งเป็นส่วนเล็กๆ ลงมาแล้ว นั่นคือ เป้าหมายการออมเดือนละ 5,000 บาท แต่หากจะแบ่งให้เล็กลงกว่านั้นอีกก็ไม่ผิด

3.ทำ Action Plan

เมื่อมีเป้าหมายย่อยๆ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายหลักแล้ว ก็ถึงเวลาจัดทำ Action Plan เพื่อจะได้บอกตัวเองได้ว่าเป้าหมายไหนที่ลงมือได้ทันที และเป้าหมายไหนที่จะเป็นลำดับถัดไป โดยเราอาจจะจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายจากระยะเวลาที่ตั้งใจจะไปให้ถึงเป้าหมาย บวกกับความสำคัญของเป้าหมาย โดยสามารถแบ่งเป้าหมายตามระยะเวลาได้เป็น 3 ระยะ

ระยะสั้น เป็นเป้าหมายที่ตั้งจะทำให้ได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี เช่น ต้องเก็บเงินไว้สำหรับใช้จ่ายยามฉุกเฉิน หรือต้องการไปเที่ยวต่างประเทศในอีก 6 เดือนข้างหน้า

ระยะกลาง ให้ระยะเวลาที่จะต้องบรรลุเป้าหมายไว้ประมาณ 1-5 ปี และมักเป็นเป้าหมายเพื่อให้ตัวเองและครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย เช่น ต้องการซื้อบ้านใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้า

ระยะยาว มีระยะเวลาตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ซึ่งจะเป็นเป้าหมายเพื่อให้ตัวเองและครอบครัวมีความมั่งคั่งและมั่นคงในอนาคต เช่น ต้องการมีเงินไว้ใช้ในชีวิตหลังเกษียณในอีก 20 ปีข้างหน้า

4.เริ่มเดินหน้าตามแผน

เวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นเดินหน้าตามเป้าหมาย คือ ตอนนี้เลย

5.เดินหน้าต่อไป

ขั้นตอนสุดท้าย แต่ก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด เพราะการบรรลุเป้าหมายไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างสม่ำเสมอ

และหลายคนก็ทำให้เป้าหมายกลับกลายไปเป็นความฝันอีกครั้ง ก็เพราะไม่เดินหน้าตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมาจากหลายสาเหตุ หนึ่งในหลายๆ สาเหตุนั่นคือ “หมดใจ”

“ทุกความฝันจะต้องมีแรงบันดาลใจ แรงบันดาลใจก็เหมือนการจุดเทียนเดินนำทางชีวิต ซึ่งมันจะต้องมีอุปสรรค มีลมพัดทำให้เทียนดับบ้าง หกล้มไปบ้าง แต่ถ้าเราพร้อมที่จะลุกขึ้นมาจุดเทียนอย่างต่อเนื่อง จะส่องทางให้เห็นไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ยอมแพ้ ไม่ทิ้ง ไม่ยอมเหนื่อย ยังดื้อทำไปเรื่อยๆ จะต้องไปถึงเป้าหมายแน่นอน” The Expert Leader แนะนำ

ในบทสรุปสุดท้ายในรายการ ทวี กล่าวไว้ว่า เมื่อกล้าฝันแล้ว แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้จะไปปรึกษาใครก็ให้มาปรึกษากับธนาคารกสิกรไทยได้

“ถึงแม้เราจะตอบไม่ได้ในตอนนั้น แต่เราจะไปพยายามหาความรู้ และจะเป็นคนที่ยืนเคียงข้างในการให้กำลังใจคุณ ไม่ว่ามันจะสำเร็จ หรือล้มเหลวก็ตาม แต่อย่างน้อยขอให้คุณได้ฝัน แล้วเราอยู่ข้างๆ ก็พอแล้ว”

ถ้ากล้าก็ลองดู