posttoday

โลจิสติกส์บุกพม่าจับกลุ่มลูกค้าไทยต่างแดน

16 มิถุนายน 2557

การออกไปขยายธุรกิจในต่างประเทศ แต่ละธุรกิจมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน บางธุรกิจเลือกที่จะให้ลูกค้า

โดย...ปรียนิจ กุลตั้งเจริญ

การออกไปขยายธุรกิจในต่างประเทศ แต่ละธุรกิจมีกลยุทธ์ที่แตกต่างกัน บางธุรกิจเลือกที่จะให้ลูกค้า ไปเปิดตลาดนำร่อง ก่อนที่จะตามไปให้บริการลูกค้า ในต่างแดน

สัญญวิทย์ เศรษฐโภคิน กรรมการผู้จัดการบริษัท บลูแอนด์ไวท์ โปรเฟสชันแนล โลจิสติกส์ กล่าวว่า บริษัทให้บริการโลจิสติกส์ในเมืองไทยมานาน โดยมีลูกค้าคือบริษัทกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เมื่อพม่า เปิดรับการค้าการลงทุนจากต่างชาติ บริษัทก็ได้ไปศึกษาตลาดประมาณ 6-7 เดือน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มธุรกิจอย่างไร

แต่เมื่อลูกค้าของบริษัทเริ่มออกไปขยายตลาดในพม่า และดึงบริษัทเข้าไปดูแลด้านโลจิสติกส์ บริษัทจึงเริ่มศึกษางานจริงจัง เสาะหาหุ้นส่วนทางธุรกิจ จึงเป็นจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจในพม่า

นับถึงวันนี้ บริษัทได้จดทะเบียนบริษัทในพม่ามาแล้วกว่า 1 ปี ให้บริการรับส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง ผ่านด่านชายแดนแม่สอด จ.ตาก หรือทางเรือ ให้บริการนำสินค้าผ่านพิธีการทางศุลกากร ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าไทย และมีวัตถุประสงค์ในการขนส่งแตกต่างกัน เช่น การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคไปจำหน่าย หรือออกงานแสดงสินค้า ขนเครื่องจักรสำหรับการจัดตั้งโรงงาน การจัดส่งวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตสินค้า แต่ในอนาคตเชื่อว่าจะมีการ ส่งสินค้าพม่ามาไทยมากขึ้น เช่น สินค้าเกษตร ใบชา ถั่ว

นอกจากนี้ บริษัทยังมีโกดังสินค้าขนาด 1,000 ตารางเมตร เพื่อรับฝากสินค้าของลูกค้า ซึ่งเป็นข้อ ได้เปรียบของบริษัทที่มีโกดังสินค้าขนาดใหญ่ของตัวเอง

สำหรับโลจิสติกส์ในพม่า ยังเป็นระบบเก่าคล้ายกับของไทยเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว บริษัทที่จำหน่ายสินค้า จะมีโกดัง รถขนสินค้าของตัวเอง ไม่ได้จ้างบริษัทภายนอกเหมือนในเมืองไทย ดังนั้น ลูกค้าหลักของบริษัทจึงเป็นผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปขายสินค้า หรือผลิตสินค้าในพม่า รวมถึงลูกค้าที่เป็นนักลงทุนต่างชาติ เช่น จีน

ในแง่ของการแข่งขัน สัญญวิทย์ แจกแจงว่า ยังมีไม่มาก บริษัทที่มาตรฐานสูงจากยุโรปและญี่ปุ่นยังเข้ามาขยายธุรกิจในพม่าน้อย เนื่องจากกฎระเบียบบางประการยังไม่ชัดเจน จึงเริ่มต้นธุรกิจได้ยากกว่ากิจการของไทยที่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับพม่าอยู่แล้ว

นอกจากนี้ การทำธุรกิจในพม่าอาจมีอุปสรรคบ้าง เช่น กฎระเบียบ และเอกสาร ที่หากมีหุ้นส่วนธุรกิจที่เป็น คนท้องถิ่นจะช่วยให้การดำเนินการสะดวกขึ้น ไม่มีปัญหาด้านการสื่อสาร

"อุปสรรคอีกข้อ คือ ไทยยังขาด ยุทธศาสตร์การพัฒนาเส้นทางขนส่งให้สอดคล้องกับการค้าที่เพิ่มมากขึ้น ต้องไม่ลืมว่า พม่าสามารถนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นได้ หากไทยไม่พร้อม จีนก็พร้อม เพียงแต่ตอนนี้พม่าต้องการและชื่นชอบสินค้าไทยมากกว่า"

สำหรับแผนการทางธุรกิจในอนาคต บริษัทกำลังเตรียมคนทั้งระดับผู้บริหารและระดับปฏิบัติการเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ โดยมีแผนจะเพิ่มจุดบริการที่เมืองมัณฑะเลย์ ที่จะใช้เป็นฐานกระจายสินค้าทาง ภาคเหนือของพม่า ส่วนประเทศอื่นๆ มองว่าลาวและกัมพูชาน่าสนใจ แต่ตอนนี้จะให้ความสำคัญกับธุรกิจในพม่าก่อน