แนะกลุ่มอาหารพัฒนาสินค้าเป็นกรีนโปรดักส์
ส.อ.ท.แนะผู้ประกอบการกลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูปเร่งพัฒนาสินค้าเป็นกรีนโปรดักส์ตามเทรนด์การแข่งขันโลก ป้องกันปัญหาถูกใช้เป็นประเด็นกีดกันทางการค้าเหมือนกรณีเรื่องการใช้แรงงานในสินค้าประมง
ส.อ.ท.แนะผู้ประกอบการกลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูปเร่งพัฒนาสินค้าเป็นกรีนโปรดักส์ตามเทรนด์การแข่งขันโลก ป้องกันปัญหาถูกใช้เป็นประเด็นกีดกันทางการค้าเหมือนกรณีเรื่องการใช้แรงงานในสินค้าประมง
นางสาวพรรัตน์ เพชรภักดี ผู้จัดการสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันประเด็นเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (เอ็นทีบี) ทั้งในตลาดเอเชีย ยุโรปและสหรัฐอเมริกา ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมรับกับเรื่องนี้ โดยการปรับแผนธุรกิจ บริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานใหม่ให้เน้นเป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (อีโค โปรดักส์) เพื่อที่จะได้เกิดปัญหาซ้ำรอยกับกรณีของสินค้าประมงที่ถูกดึงเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมายเข้ามาเป็นเอ็นทีบี
ทั้งนี้ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างญี่ปุ่นเองก็มีการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไว้ ทั้งที่เป็นมาตรการบังคับและมาตรการสมัครใจ เช่น การห้ามนำเข้าหรือจำกัดปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การติดฉลากสิ่งแวดล้อมและการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทางสถาบันจะเน้นให้ความสำคัญก่อน คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมผลไม้อบแห้ง และอาหารเกษตรอินทรีย์ที่อยู่ในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวจำนวนมาก รวมทั้งยังรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในสินค้าเกษตรอีกด้วย
“มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีมาตรการบังคับออกมาจริงจัง แต่หากผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้จำนวนมากเตรียมตัวเองให้พร้อม แม้ว่าในระยะแรกนี้จะไม่ทำให้เพิ่มมูลค่าสินค้าได้มากนัก แต่เชื่อว่าจะเป็นแต้มต่อในการรักษาหรือขยายส่วนแบ่งตลาดในประเทศนั้นๆ ไว้ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเทรนด์ของการค้าในอนาคต” นางสาวพรรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงเรื่องการเตรียมพร้อมจัดทำมาตรฐานสินค้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียนนี้ ต้องถือว่าไทยเป็นผู้นำทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การยกระดับผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น การวิเคาระห์ปริมาณการใช้พลังงานและน้ำ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) เป็นต้น
นอกจากนี้ ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม ยังได้ร่วมกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดงานอีโค โปรดักส์ แฟร์ ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้นทุกปี เพื่อสร้างความรับรู้ให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น รวมทั้งอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) และสมาคมธนาคารไทย ร่วมกันจัดทำบัตรอีโค การ์ด เพื่อใช้เป็นบัตรสะสมแต้มเวลาซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คาดว่าน่าจะสามารถออกได้ภายในสิ้นปีนี้