ปตท. คว้ารางวัลยอดเยี่ยม แผงโซลาร์เซลล์โปร่งแสง
สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ได้รับรางวัลผลงานวิจัยและพัฒนาแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบโปร่งแสง
สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ได้รับรางวัลผลงานวิจัยและพัฒนาแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบโปร่งแสง ซึ่งเป็นรางวัลสุดยอดเทคโนโลยีเครื่องจักรกลยอดเยี่ยม จัดขึ้นปีแรกโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมาคมเครื่องจักรกลไทย และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน)
ทั้งนี้ ปตท.ได้ส่งผลงานชื่อว่า “แผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดคัลเลอร์ฟูล พีวี (Colorful PV)” ซึ่งเป็นงานวิจัยและพัฒนาของสถาบันที่ใช้เวลากว่า 1 ปีเศษ กับการคิดค้นเทคโนโลยีดังกล่าว ด้วยความตั้งใจ มีเป้าหมายสร้างความแตกต่างด้านการใช้งานเมื่อเทียบกับแผงโซลาร์เซลล์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
วิจิตร แตงน้อย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. กล่าวว่า ปีนี้สถาบันวิจัย ปตท. ส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมประกวด รางวัลเทคโนโลยีเครื่องจักรกลยอดเยี่ยม 2557 ผลงานได้รับรางวัลที่ 1 สาขาเครื่องจักรกลเพื่อพลังงานและสิ่งแวดล้อม และรางวัลสุดยอดเทคโนโลยีเครื่องจักรกลยอด
ทั้งนี้ รางวัลเทคโนโลยีเครื่องจักรกลยอดเยี่ยมประจำปี 2557 จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของคนไทย ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูง ทำให้การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็ว ลดต้นทุนการผลิตและสินค้าที่ผลิตมีคุณภาพสูง จึงเป็นการสร้างความแตกต่าง โดยใช้องค์ความรู้ที่พัฒนาขึ้นมาเอง หรือต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัย
ตลอดจนสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยอาศัยการบริหารจัดการความรู้ทางด้าน “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” มาปรับใช้ให้เกิดความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยดังกล่าวยังจะช่วยให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมีโอกาสเลือกผลงานของคนไทยไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้อีกด้วย
สำหรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์คัลเลอร์ฟูล พีวี ของสถาบันวิจัย ปตท. เป็นการนำเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกมาพัฒนา โดยทำให้มีสีสันสวยงามเพื่อเหมาะกับการใช้งานในด้านการตกแต่งอาคารทั้งภายในและภายนอก ในขณะที่ยังคงคุณสมบัติของการผลิตไฟฟ้าตามที่เป็นหน้าที่หลักของเซลล์แสงอาทิตย์ โดยในอนาคตมีแผนที่จะนำมาต่อยอด เพื่อนำมาใช้งานจริงซึ่งจะเริ่มในปั๊มน้ำมัน ปตท.ก่อน
วิจิตร กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกสิ่งประดิษฐ์แผงโซลาร์เซลล์ เข้าประกวดเพราะเห็นว่าทิศทางการใช้พลังงานในอนาคตจะให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนมากขึ้น แต่ขณะนี้ต้องยอมรับว่า การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ยังมีต้นทุนที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่น ดังนั้นจึงคิดค้นวิจัยแผงโซลาร์เซลล์ที่จะลดต้นทุนได้ในอนาคต โดยเชื่อว่าในปี 2020 ต้นทุนโซลาร์เซลล์จะเริ่มใกล้เคียงกับการผลิตไฟฟ้าจากต้นทุนอื่นๆ เนื่องจากเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยของ ปตท.มีเป้าหมายที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องขององค์กร โดยให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน ซึ่งในงานวิจัยที่ ปตท.ดำเนินการอยู่มีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของผลิตภัณฑ์ที่นำมาวิจัยในแต่ละสาขา
ด้าน ณัฐพงษ์ บริรักษ์สันติกุล นักวิจัยสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. กล่าวว่า ข้อดีของแผงเซลล์แสงอาทิตย์คัลเลอร์ฟูล พีวี มี 6 ประเด็น ได้แก่ 1.ความสามารถในการมองทะลุผ่านแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถใช้เป็นวัสดุตกแต่งที่มีสีสันสวยงาม 2.ความสามารถในการลดการส่องผ่านของแสงยูวีได้มากกว่า 99% และลดการส่องผ่านรังสี IR ได้มากกว่า 40% ซึ่งรังสีเหล่านี้สามารถทำอันตรายต่อผิวหนังมนุษย์ได้
3.ลดการสะท้อนของแสงแดดได้มากกว่า 94% ที่เป็นอันตรายต่อนัยน์ตามนุษย์ หรือรบกวนสายตาผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง 4.ป้องกันและลดอุณหภูมิหรือความร้อนจากภายนอกที่จะเข้าสู่ภายในอาคารได้มากกว่า 9% ทำให้อาคารมีอุณหภูมิภายในต่ำและมีอากาศเย็นกว่าภายนอก 5.ประยุกต์ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ซึ่งเพิ่มมูลค่าและความสวยงามให้กับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง และ6.ส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรหรืออาคารที่ติดตั้งแผงในด้านการอนุรักษ์พลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม