สิ่งทอปากีสถาน เรื่องของแขกขายผ้า (1)
สิ่งทอเป็นสินค้าที่ทำรายได้หลักอย่างหนึ่งให้กับประเทศปากีสถาน (รวมทั้งอินเดีย) ปากีสถานมีการผลิตสิ่งทอที่ครบวงจรคือ... การปลูกฝ้าย การปั่นด้าย การทอผ้า การค้าผ้า รวมทั้งมีสถาบันสอนวิชาการออกแบบเกี่ยวกับสิ่งทอด้วยขณะนี้ปากีสถานเป็นประเทศที่ผลิตฝ้ายมากเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีนและอินเดีย เราคงเริ่มคลายความสงสัยลงไปได้บ้างแล้วนะคะว่า
สิ่งทอเป็นสินค้าที่ทำรายได้หลักอย่างหนึ่งให้กับประเทศปากีสถาน (รวมทั้งอินเดีย) ปากีสถานมีการผลิตสิ่งทอที่ครบวงจรคือ... การปลูกฝ้าย การปั่นด้าย การทอผ้า การค้าผ้า รวมทั้งมีสถาบันสอนวิชาการออกแบบเกี่ยวกับสิ่งทอด้วยขณะนี้ปากีสถานเป็นประเทศที่ผลิตฝ้ายมากเป็นอันดับ 3 ในเอเชีย รองจากจีนและอินเดีย เราคงเริ่มคลายความสงสัยลงไปได้บ้างแล้วนะคะว่า
เอ ทำไมคนแขกจึงชอบขายผ้า?
ผ้าคือเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็น 1 ในปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ผู้เขียนคิดว่าปากีสถานจะครองความสำคัญในเรื่องนี้ไปอีกนาน และขณะเดียวกันผู้เขียนเห็นว่าสิ่งทอเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับ ด้านมานุษยวิทยา ด้านเศรษฐศาสตร์โลก และเป็นเรื่องที่เปลี่ยนโลกค่ะ
เพื่อให้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จะขอนำท่านผู้อ่านกลับไปดูอิทธิพลและพัฒนาการของสิ่งทอในโลกเป็นน้ำจิ้มสักเล็กน้อย...
เมืองฟลอเรนซ์ในคาบสมุทรอิตาลีที่สามารถกลายเป็นผู้นำในการฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ในศตวรรษที่ 14 สามารถเป็นผู้ถือคบไฟนำยุโรปออกมาจากยุคมืด (Dark Age) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากจักรวรรดิโรมันล่มสลายลงก่อนหน้านั้น 1,000 ปี
ที่ฟลอเรนซ์ทำเช่นนั้นได้ก็เพราะเกิดความร่ำรวยมั่งคั่ง หลังจากที่พวกพระได้นำแกะจากอังกฤษมาเลี้ยงแล้วตัดขนทอเป็นผ้าขนสัตว์ขาย ผ้าขนสัตว์ซึ่งมีแบรนด์ฟลอเรนซ์ได้รับความนิยมไปทั่วยุโรป สิ่งทอจากขนสัตว์สร้างความมั่งคั่งให้กับฟลอเรนซ์นำภาษีไปสร้างโบสถ์วิหาร และสร้างงานศิลปะย้อนยุคกรีก/โรมันขึ้นมาได้เต็มเมือง
ต่อมาในศตวรรษที่ 16 เมืองแมนเชสเตอร์ที่เกาะอังกฤษ ซึ่งเป็นเมืองค้าขายเล็กๆ เกิดมีคนคิดใช้เครื่องจักรไอน้ำมาปั่นด้ายแล้วก็เปิดโรงงานทอผ้ากลายเป็นอุตสาหกรรมหนัก แมนเชสเตอร์ก็นำโลกเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18
อังกฤษหัวใส... ให้ปากีสถาน (รวมทั้งอินเดีย) ซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมปลูกฝ้ายกันขนานใหญ่ ส่งฝ้ายที่เก็บเกี่ยวได้ล่องเรือไปขึ้นที่ท่าเรือลิเวอร์พูลแล้วส่งต่อไปแมนเชสเตอร์เพื่อผลิตผ้า ผลิตเสร็จแล้วก็ขนย้อนกลับมาขายที่อาณานิคม ซึ่งก็รวมทั้งปากีสถาน (และอินเดีย)
เวรกรรมจริงๆ...
นั่นเป็นเรื่องของประเทศที่ผิดพลาดไปตกไปเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษที่ต้องอยู่กับอังกฤษอย่างงงๆ มาอีกราว 200 ปี
อังกฤษพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าให้เป็นผ้าชนิดต่างๆ มากมายและทำให้อังกฤษกลายเป็นตลาดผ้าที่ใช้อ้างอิงกันไปทั่วโลก
ด้านปากีสถานและอินเดียเองจริงๆ แล้วก็มีทักษะและได้มีการทอผ้าใช้ในบ้านของตนมานานแล้ว ทั้งในเวลาต่อมาเมื่อคานธีสู้ด้วยวิธีอารยะขัดขืนกับอังกฤษ เขานั่งปั่นด้ายและทอผ้าใช้เองโดยไม่ยอมใช้ผ้าที่อังกฤษเอามาบังคับให้ซื้อ
ปัจจุบันทั้งปากีสถานและอินเดียยังเป็นพื้นที่ปลูกฝ้ายอันดับต้นๆ ของ1 ใน 50 ประเทศในโลกที่ส่งฝ้ายเป็นสินค้าออก แต่ขณะนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอได้ถูกพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ผลิตภัณฑ์ผ้าส่วนหนึ่งในโลกได้เปลี่ยนไปผลิตจากสารสังเคราะห์ทางอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ถึงแม้วัตถุดิบแปลกใหม่จะถูกคิดค้นออกมาในวงการสิ่งทอ แต่มันก็ไม่อาจลบความสำคัญของฝ้ายเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องนุ่งห่มของมนุษย์ได้
อุปสงค์ของฝ้ายยังมีอยู่มากทั่วโลก
ปากีสถานยังคงมีความสำคัญในการทำเกษตรกรรมฝ้ายและการผลิตสิ่งทอที่สำคัญของโลก
ผู้เขียนได้เข้าไปสัมผัสกับผ้าหลายร้านในปากีสถานซึ่งเป็นผ้าที่ผลิตขึ้นขายในประเทศ ผ้าชนิดที่แพงมากๆ ซึ่งมักเป็นผ้าคลุมร่างกายแบบมุสลิม
เป็นผ้าที่งามล้ำ ที่ใครๆ ในโลกก็ทำไม่ได้...
(อ่านต่อวันอังคารหน้า)