ทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก (The Butterfly Effect)
ในปี 1961 มีนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง ชื่อ ดร.เอ็ดเวิร์ด เอ็น ลอว์เรนซ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์เพื่อพยากรณ์อากาศ
ในปี 1961 มีนักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่ง ชื่อ ดร.เอ็ดเวิร์ด เอ็น ลอว์เรนซ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์เพื่อพยากรณ์อากาศ ดร.ลอว์เรนซ์ท่านนี้ใช้ชีวิตกับการป้อนข้อมูลตัวเลขเข้าแบบจำลองคณิตศาสตร์ ตัวเลขดังกล่าวปกติแล้วมักประกอบด้วยตัวเลขหลังจุดทศนิยมหลายหลัก แต่มีวันหนึ่งท่านเกิดขี้เกียจป้อนตัวเลขหลายๆ หลักเลยปัดเศษทศนิยมออก คือท่านป้อนตัวเลข 0.506 แทนที่จะเป็น 0.506127 ท่านปัดเศษ 0.000127 ออกครับ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สำคัญทางสถิติเลย เพราะที่ตัดออกเป็นหลักสี่หลังจุดทศนิยม ซึ่งก็เป็น “แค่” หนึ่งในหมื่นครับ น้อยมากๆ (ดู http://en.wikipedia.org/wiki/ Butterfly_effect)
แต่พอกลับมาดูผลการจำลองสภาพอากาศที่เกิดขึ้นกลับต้องตกใจครับ เพราะสภาพอากาศที่จำลองขึ้นมีความแตกต่างออกไปอย่างสุดขั้ว ไม่น่าเชื่อว่าแค่ปัดเศษนิดเดียวจะสามารถทำให้แบบพยากรณ์ทางภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทำนองฟ้ากับเหวได้ถึงเพียงนั้น ดร.ลอว์เรนซ์ก็เลยคิดต่อไปอีกว่า แล้วถ้าอย่างนั้นในทำนองเดียวกัน หากมีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เราอาจเห็นว่าไม่สำคัญเกิดขึ้นจริง ทำให้เลขทศนิยมเปลี่ยนแปลงจริงๆ แม้เพียงเล็กน้อย แต่เมื่อใส่ในแบบจำลองก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงเช่นกัน ดร.ลอว์เรนซ์เลยเสนอบทวิจัยเชิงอุปมาอุปไมยว่า แค่ผีเสื้อขยับปีกในไทยอาจไปทำให้เกิดทอร์นาโดในอเมริกาได้ ในทางตรงข้าม เราก็อาจหยุดทอร์นาโดที่กำลังก่อตัวได้ด้วยการทำให้เกิดลมเล็กๆ ก็อาจเป็นไปได้ที่จะทำให้ทอร์นาโดเปลี่ยนทิศหรือลดความรุนแรงลงได้ครับ นี่แหละครับจึงเป็นที่มาของทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก (Butterfly Effect)
บทเรียนที่เราได้เรียนรู้จากงานวิจัยนี้เชิงสังคมก็คือ “ทุกการกระทำที่แม้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยก็สามารถนำมาซึ่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ได้” ทำนองวลีที่หลายคนคุ้นเคยก็คือ “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว”
ตัวอย่างหนึ่งที่ผมอยากยกให้เห็นก็คือเรื่องราวของหญิงวัยกลางคนคนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือเด็กผู้ชายคนหนึ่งอายุประมาณ 12-13 ปี ที่ขโมยยาแก้ปวดกับยาธาตุไปให้แม่ที่ป่วย แถมยังฝากผลไม้ให้เด็กไปให้แม่ที่ป่วยได้กินเพื่อบำรุงร่างกาย
ใครจะไปคิด ความดีที่ทำในครั้งนั้นแม้เพียงเล็กน้อย แต่กลับมาช่วยให้หญิงคนนั้นรอดตายจากเนื้องอกในสมองด้วยการผ่าตัดของหมอผ่าตัดสมองที่มีชื่อเสียง ไม่เพียงการผ่าตัดจะประสบความสำเร็จ ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสมองที่สูงเป็นหลักหลายแสนบาทก็ได้รับการช่วยเหลือ โดยจากบิลค่ารักษาพยาบาลที่เขียนว่า
“ข้าพเจ้านายแพทย์เดชา ทองวิจิตร แพทย์ผู้ผ่าตัด นางสมพร ภู่จันทร์ ขอสรุปค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดทั้งหมดดังนี้
ค่าผ่าตัด 0 บาท
ค่ายาทั้งหมด 0 บาท
ค่าใช้จ่ายอื่นที่เหลือ 0 บาท
รวมเป็นเงินทั้งหมด 0 บาท
ป.ล. ค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้รับแล้วเมื่อยี่สิบปีก่อนด้วยยาแก้ปวด ยาธาตุ ส้มหนึ่งถุง
ขอให้สุขภาพแข็งแรงไปอีกนานๆ นะครับคุณน้า
นายแพทย์เดชา ทองวิจิตร”
หลายท่านคงจะคุ้นเคยกับเรื่องเล่านี้ เพราะมีบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งนำโครงเรื่องนี้ไปสร้างเป็นหนังโฆษณา เรื่องนี้จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ไม่สำคัญ แต่เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับพวกเราทุกคนเกี่ยวกับทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก (Butterfly Effect)
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นตัวอย่างได้ดีและเกิดกับผมเองก็คือ จริงๆ แล้วเดิมทีผมเองไม่ได้จบหรือสนใจด้านการจัดการการเงินเลย แต่มาวันหนึ่ง คุณดัยนา บุนนาค เจ้านายเก่าของผมสมัยที่ผมทำงานที่ บลจ.กสิกรไทยได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่องการวางแผนการเงิน ท่านก็ได้มอบหมายให้ผมเป็นผู้เตรียม Slide สำหรับการบรรยาย การเตรียม Slide ในครั้งนั้นกระตุ้นให้ผมสนใจเรื่องการวางแผนการเงิน และศึกษา เอาใจใส่ เรื่องการวางแผนการเงินเรื่อยๆ มาจนปัจจุบัน จนกลายเป็นวิชาชีพที่ผมได้ใช้ในการเลี้ยงครอบครัวและตนเองในทุกวันนี้ ถ้าคุณดัยนาไม่ได้มอบหมายให้ผมทำ Slide ในวันนั้น วันนี้ผมก็อาจทำวิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่นักวางแผนการเงินก็เป็นได้
บทเรียนที่เราได้จากทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีกก็คือ
ทุกการกระทำที่แม้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ก็สามารถนำมาซึ่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ได้
เป็นการเตือนให้เราทำดีในปัจจุบันให้มากที่สุด โดยเฉพาะคนที่อยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่หรือเล็กน้อยก็ตาม
อย่าปิดกั้นตนเองในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะไม่แน่ อนาคตเราอาจรุ่งเรืองจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำในวันนี้ก็ได้
อย่าประมาทกับความผิดแม้เพียงเล็กน้อย เพราะอาจส่งผลเสียหายที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ อย่างเช่น คำพูดที่ไม่คิดของเราเพียงประโยคเดียว อาจทำให้เราเสียเพื่อนที่ดีไปก็ได้เช่นกัน