ว่าด้วย‘วิสัยทัศน์’
คำว่า “วิสัยทัศน์” (Vision) เป็นอีกคำหนึ่งที่ผู้บริหารและผู้คนทั่วไปพูดกันจนติดปาก และกลายเป็นสิ่งที่ผูกติดกับภาพลักษณ์ของ “องค์กรชั้นนำ” หรือ “ผู้นำ” ที่มีอนาคต
คำว่า “วิสัยทัศน์” (Vision) เป็นอีกคำหนึ่งที่ผู้บริหารและผู้คนทั่วไปพูดกันจนติดปาก และกลายเป็นสิ่งที่ผูกติดกับภาพลักษณ์ของ “องค์กรชั้นนำ” หรือ “ผู้นำ” ที่มีอนาคต
เพราะเรามักจะได้ยินว่า ท่านนั้นท่านนี้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลตั้งแต่หนุ่มๆ สาวๆ จึงมี (ความสำเร็จ) อย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้
ปัจจุบันองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงมักจะมีข้อความที่ระบุถึง “วิสัยทัศน์ขององค์กร” ปิดประกาศไว้ในบริเวณที่เห็นชัดเจน ซึ่งทันทีที่ผู้คนก้าวเข้ามาในองค์กร ก็จะมองเห็นและมักจะปิดประกาศทั่วไปตามบอร์ดต่างๆ ภายในองค์กรด้วย
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีไม่กี่องค์กรที่ “วิสัยทัศน์” จะเป็นที่ทราบและเข้าใจอย่างกว้างขวางในหมู่พนักงาน หรือมีผลโดนใจบุคคลภายนอกที่มาเยือนด้วย
ทุกวันนี้หลายแห่งถึงขนาดใช้ “วิสัยทัศน์” เป็นตัวชี้วัดหรือสรรหาผู้บริหารด้วยซ้ำไป โดยมักกำหนดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง จะต้องเขียนข้อความแสดงถึง “วิสัยทัศน์” ของตนเอง เพื่อให้ผู้ประเมินหรือกรรมการคัดเลือกได้ใช้ “วิสัยทัศน์” ที่เขียนขึ้นนั้นเป็น “หนึ่งในเกณฑ์ตัดสิน” เพื่อคัดเลือกและแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหาร
นักวิชาการและนักเขียนชื่อ “ควิกเลย์” (Quigley) ได้ให้ความหมายคำว่า “วิสัยทัศน์” ดังนี้
“วิสัยทัศน์ขององค์กร” (Corporate Vision) คือ ประโยคหรือข้อความชุดหนึ่งที่สรุปรวมเอาค่านิยม ความคาดหวัง และเป้าหมายขององค์กรเข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด”
วิสัยทัศน์จึงเป็นประโยคหรือข้อความที่ผู้บริหารและพนักงานทุกคนในองค์กรหนึ่งๆ รับทราบและได้จดจำเป็นอย่างดี และต้องเป็นข้อความที่บ่งบอกถึงสถานภาพขององค์กรที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และสถานภาพในอนาคตที่องค์กรต้องการจะบรรลุถึงอย่างชัดเจนด้วย
วิสัยทัศน์จึงเป็นเสมือน “แผนที่” ที่คอยชี้นำทิศทางเพื่อที่องค์กรจะต้องก้าวไปให้ถึงในอนาคตด้วย
บางท่านจึงสรุปอย่างง่ายๆ ว่า “วิสัยทัศน์ขององค์กร ก็คือ สภาพที่องค์กรต้องการจะเป็นในอนาคต”
ดังนั้น องค์ประกอบสำคัญที่ควรจะระบุไว้ในวิสัยทัศน์ จึงได้แก่ ค่านิยม (Value) พันธกิจ (Mission) และเป้าหมาย (Objective/Goal)
ค่านิยม (ร่วม) ก็คือ ความเชื่อขององค์กรโดยรวมที่ยึดถือและปฏิบัติต่อๆ กันไป
พันธกิจ ก็คือ สถานภาพและสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันขององค์กร และสถานภาพที่จะเป็นและจะทำในอนาคต
เป้าหมาย ก็คือ สิ่งที่องค์กรมีความยึดมั่นผูกพันว่าจะต้องทำให้สำเร็จหรือบรรลุผลให้ได้
คำตอบสำหรับองค์ประกอบทั้งสามประการข้างต้น จึงเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญของ “การกำหนดวิสัยทัศน์”
โดยทั่วไปแล้ว วิสัยทัศน์ของแต่ละองค์กรจะมีได้ทั้งวิสัยทัศน์ระดับโลก ระดับประเทศ ระดับองค์กร ระดับบริษัท ระดับหน่วยงาน และวิสัยทัศน์ส่วนบุคคล
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ เพียงต้องการเน้นให้เห็นว่ากระบวนการกำหนดวิสัยทัศน์จึงเป็นเรื่องของ “ความคิดเห็นของกลุ่ม” มากกว่าความคิดเห็นของส่วนบุคคล และควรจะเป็นความเห็นเป็นเอกฉันท์จากกลุ่มด้วย เพื่อการยอมรับและผูกพันสำหรับการยึดถือปฏิบัติของทุกคนในองค์กร ครับผม!