posttoday

เจ้าท่าได้งบขุดลอกแม่น้ำ-ทะเลกว่า3,000ล้าน

08 กันยายน 2557

กรมเจ้าท่าได้งบปี 58 ขุดลอกแม่น้ำ-ทะเล กว่า 3,000 ล้านบาท เร่งทำสัญญาหาผู้รับจ้างให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ คาดทยอยเบิก งบได้เดือนม.ค.58 ส่วนแผนสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งแห่งใหม่ชุมพร เร่งศึกษาแล้วเสร็จปีหน้า

กรมเจ้าท่าได้งบปี 58 ขุดลอกแม่น้ำ-ทะเล กว่า 3,000 ล้านบาท เร่งทำสัญญาหาผู้รับจ้างให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ คาดทยอยเบิก งบได้เดือนม.ค.58  ส่วนแผนสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งแห่งใหม่ชุมพร เร่งศึกษาแล้วเสร็จปีหน้า
               
นายจุฬา สุขมานพ  อธิบดีกรมเจ้าท่า(จท.) เปิดเผยว่า ในปี 2558 กรมฯได้งบประมาณ 4,700 ล้านบาท โดยงบส่วนใหญ่จะเป็นงบที่จัดสรรเพื่อการขุดลอกแม่น้ำและทะเลกว่า 3,000 ล้านบาท เช่น แม่น้ำป่าสัก เจ้าพระยา น่าน ส่วนขุดลอกทะเลบริเวณปัตตานี  ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ที่เหลือเป็นงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทำเขื่อนป้องกันตลิ่ง วงเงิน 45 ล้านบาท ในพื้นที่ จ.ต่างๆ เช่น จ.เชียงราย สุโขทัย พิษณุโลก อุบลราชธานี เป็นต้น มีงบในการพัฒนาสนับสนุนโลจิสติกส์ วงเงิน 365 ล้านบาท งานหลักๆ เช่น ทำเขื่อนป้องกันตลิ่งบริเวณแม่น้ำป่าสัก

นอกจากนี้ ยังมีงบในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำทั้งหมด วงเงิน 380 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการเรือโดยสารของประชาชน เช่น บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น โดยงบประมาณดังกล่าวจะต้องทำสัญญาหาผู้รับจ้างให้ได้ภายในสิ้นปี 2557 นี้ ไม่น้อยกว่า 35% และคาดว่าจะทอยอยเบิกจ่ายงบประมาณได้ตั้งแต่เดือนม.ค.2558

นายจุฬา ก ล่าวว่า ในส่วนของท่าเทียบเรือชายฝั่งนั้น อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบท่าเทียบเรือชายฝั่ง จ.ชุมพร ซึ่งคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จปีหน้านี้  และหากทำได้ก็จะช่วยในการขนส่งสินค้าในบริเวณดังกล่าวที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น โดยสินค้าที่น่าจะมีการขนส่งผ่านท่าเรือ เช่น น้ำมันปาล์ม อาหารทะเล ในส่วนของท่าเทียบเรือชายฝั่งบริเวณท่าเรือแหลมฉบังนั้น อยู่ระหว่างเจรจาหาพื้นที่ที่เหมาะสม เนื่องจากพื้นที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบังได้ให้สัมปทานไปหมดแล้ว

นายจุฬา กล่าวว่า ขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)อยู่ระหว่างจัดทำร่างทีโออาร์เพื่อใช้ประกวดราคา หาเอกชนรายใหม่เข้ามารับสัมปทานบริหารสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ลาดกระบัง (ไอซีดีลาดกระบัง) ภายในเดือนต.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอให้ครม.พิจารณา และคาดว่าจะได้เอกชนเข้ามาบริหารไอซีดีลาดกระบังภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ร.ฟ.ท.ยังยืนยันในหลักการดำเนินการ โดยผู้เข้ารับสัมปทานจะต้องคิดค่าจ้างบริหารจัดการกับผู้ที่เข้ามาใช้บริการในราคาต่ำ เพื่อดึงดูดให้มีผู้เข้ามาใช้บริการในไอซีดีลาดกระบังมากขึ้น

สำหรับ 6 บริษัทเดิมที่หมดสัมปทาน เดิมไปตั้งแต่ปี 2554 ประกอบด้วย บริษัท สยามชอร์ไซด์ เซอร์วิส จำกัด, บริษัท  อีสเทิร์นซี แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด, บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทิฟฟ่า  ไอซีดี จำกัด, บริษัท ไทยฮันจิน โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท เอ็น.วาย.เค. ดิสทริบิวชั่น เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด

 

Thailand Web Stat