โรงแรมไทยสร้างแบรนด์หวังต่อกรอินเตอร์เชน

16 กันยายน 2557

สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจธุรกิจโรงแรมและเกสต์เฮาส์ทุก 2 ปี โดยปี 2555 สำรวจพบว่า มีโรงแรมและเกสต์เฮาส์ทั่วประเทศ 9,865 แห่ง ห้องพักรวมกว่า 4.57 แสนห้อง ส่วนใหญ่มีห้องพักต่ำกว่า 60 ห้อง 96.5% ลงทุนโดยคนไทยทั้งหมด อีก 3.5% มีเงินลงทุนจาก

สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจธุรกิจโรงแรมและเกสต์เฮาส์ทุก 2 ปี โดยปี 2555 สำรวจพบว่า มีโรงแรมและเกสต์เฮาส์ทั่วประเทศ 9,865 แห่ง ห้องพักรวมกว่า 4.57 แสนห้อง ส่วนใหญ่มีห้องพักต่ำกว่า 60 ห้อง 96.5% ลงทุนโดยคนไทยทั้งหมด อีก 3.5% มีเงินลงทุนจาก

ต่างประเทศบางส่วน แต่แนวโน้มต่างชาติก็เข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้มากขึ้น และใช้แบรนด์เครือโรงแรม (เชน) ทั้งไทยและนานาชาติ จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับโรงแรมแบรนด์ไทยที่จะสู้ศึกเชนต่างๆ

สุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร กรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มโรงแรมเอเชีย และนายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า โรงแรมในไทยทั้งหมดที่ถูกกฎหมายมีกว่า 4 แสนห้อง แต่หากนับรวมไม่ถูกกฎหมาย จะมีไม่ต่ำกว่า 6 แสนห้องให้บริการ ในจำนวนนี้มีเพียง 10% ในตลาดที่ใช้แบรนด์อินเตอร์เชน หรือเชนใหญ่ของไทย ที่เหลือใช้แบรนด์ตัวเอง

การใช้เชนจะมีข้อได้เปรียบเรื่องรับรู้แบรนด์ดีกว่า เพราะลักษณะห้องพัก ตัวโรงแรมแต่ละแบรนด์จะเหมือนกัน ส่วนโรงแรมที่มีแบรนด์ของตัวเองสร้างการรับรู้ยากกว่า อย่างไรก็ตามหากโรงแรมที่มีแบรนด์ของตัวเอง หาระบบมารับประกันคุณภาพได้ว่า เป็นโรงแรมระดับไหน มาตรฐานแค่ไหน จะทำให้โรงแรมนั้นสร้างแบรนด์ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้โรงแรมต่างๆ เริ่มหาสิ่งใหม่ดึงดูดลูกค้ามาใช้บริการ เช่น สร้างโรงแรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ (บูติกโฮเต็ล) สร้างความแตกต่างจากโรงแรมอื่น นำนวัตกรรมใหม่มาใช้พัฒนาโรงแรมตอบสนองความต้องการนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ หรือหานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวในโรงแรม กรณีขาดแคลนคนก็นำอุปกรณ์มาช่วยทำงานมากขึ้น เพิ่มอุปกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริหารโรงแรม อย่างอุปกรณ์ตรวจสอบยอดใช้งานมินิบาร์ในห้องพักที่แม่นยำ และมีเครื่องซักผ้าที่ประหยัดไฟ เป็นต้น

อลิสา พันธุ์ศักดิ์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมวู้ดแลนด์ โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท และวู้ดแลนด์ เรสซิเดนซ์ เซอร์วิส กล่าวว่า เปิดให้บริการวู้ดแลนด์ โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท มา 26 ปี ประสบปัญหาขาดทุนจนเกือบตัดใจใช้เชนมาบริหาร แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเก็บแบรนด์เอาไว้ เน้นสร้างแบรนด์ให้แข่งขันได้ ด้วยการปรับตัวตลอดเวลา นำความต้องการของคนเดินทางมาใช้ปรับปรุงห้องพักให้มีมาตรฐานทัดเทียมระดับสากล เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดี เช่น เปลี่ยนที่จอดรถมาทำร้านอาหาร

ทั้งนี้ เมื่อร้านอาหารมีชื่อดังติดตลาด จะช่วยสร้างแบรนด์ของโรงแรมให้ติดตลาดตามได้แล้ว รวมทั้งยังช่วยเพิ่มช่องทางหารายได้ให้โรงแรมด้วย และการที่โรงแรมมีแบรนด์ที่นักท่องเที่ยวยอมรับ จะทำให้โรงแรมขยับราคาขึ้นได้ จากเดิมเผชิญปัญหาตัวแทนจำหน่ายต่างชาติต่อรองค่าที่พักแบบไม่มีที่สิ้นสุด

“สิ่งสำคัญของการสร้างแบรนด์โรงแรมคือ ตัวผลิตภัณฑ์ต้องดี สร้างความน่าเชื่อถือตัวแบรนด์ได้ดีเวลาคนกล่าวถึง สิ่งเหล่านี้อยู่ที่เจ้าของโรงแรมว่าจะสร้างบุคลิกโรงแรมให้เป็นแบบไหน ซึ่งการเป็นโรงแรมไทยก็สร้างแบรนด์ได้ ถ้าผู้นำองค์กรปรับปรุงโรงแรมให้เข้ากับยุคสมัย ปรับตัวได้ตลอดเวลา” อลิสา กล่าว

มาริสา หนุนภักดี สุโกศล รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล กล่าวว่า การเป็นโรงแรมเชนจะได้เปรียบกว่าด้านการจดจำและรู้จักแบรนด์ เพราะมีเครือข่ายทั่วโลก แต่โรงแรมไทยที่สร้างแบรนด์เอง ก็มีข้อดี สร้างเอกลักษณ์ส่วนตัวได้ ไม่ต้องทำทุกอย่างในโรงแรมเหมือนกับที่ไหน นำจิตวิญญาณเจ้าของโรงแรมมาใช้ออกแบบโรงแรมได้ ซึ่งการสร้างแบรนด์โรงแรมเองทำได้ ด้วยการเลือกทำโรงแรมที่มีรูปแบบและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ถูกกับไลฟ์สไตล์กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ

จิดาภา สีจง ผู้อำนวยการฝ่ายอีคอมเมิร์ซ กลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล กล่าวว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยววางแผนเดินทางจะเข้าเว็บไซต์กว่า 20 เว็บไซต์ต่อทริป หนึ่งในนั้นคือ เว็บไซต์ตัวแทนจำหน่ายท่องเที่ยว (โอทีเอ) โรงแรมจะต้องนำตัวเองเข้าไปอยู่ในนั้นเพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก พร้อมลงทุนเรื่องภาพถ่ายของโรงแรมที่จะนำเสนอ ขณะเดียวกันต้องทำข้อมูลโรงแรมและภาพต่างๆ ในเว็บไซต์โรงแรมเองให้เหมือนหรือสอดคล้องด้วย เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ดูข้อมูลจากโอทีเอแล้วต้องการดูข้อมูลต่อในเว็บไซต์โรงแรมเอง ลักษณะข้อมูลต้องเข้าใจง่าย เพื่อตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น

แม้การสร้างแบรนด์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่แค่เริ่มทำด้วยดี ก็มีโอกาสสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

Thailand Web Stat