“กระทรวง จารุศิระ” นักลงทุนหลายรูปแบบ
“กระทรวง จารุศิระ” หรือ “ซัน” วัย 35 ปี เป็นผู้ชนะการแข่งขันรายการแฟนพันธุ์แท้ตลาดหุ้นไทยปี 2556 ความจริงผู้ชายคนนี้เริ่มลงทุนในหุ้นมาตั้งแต่ปี 2546 หลังเห็นเพื่อนได้กำไรจากหุ้นมาอย่างง่ายดาย
“กระทรวง จารุศิระ” หรือ “ซัน” วัย 35 ปี เป็นผู้ชนะการแข่งขันรายการแฟนพันธุ์แท้ตลาดหุ้นไทยปี 2556 ความจริงผู้ชายคนนี้เริ่มลงทุนในหุ้นมาตั้งแต่ปี 2546 หลังเห็นเพื่อนได้กำไรจากหุ้นมาอย่างง่ายดาย
ช่วงที่เรียนปริญญาโทที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคิดว่า ถ้ามีเงิน 5 แสนบาท จะทำกำไรได้มากกว่านี้ จึงไปร่วมโครงการอบรมเรื่องการลงทุนให้เยาวชนโครงการ Money Management Award ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่จัดขึ้นเป็นปีแรก ซึ่งต่อมาคือโครงการ Young Financial Star Competition (YFS) ในปัจจุบัน
ด้วยความอยากรู้วิธีการลงทุนและเอาชนะการลงทุน และก็ได้รางวัลอันดับที่ 2 มา แม้จะไม่ได้เงินรางวัลมากมาย แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฝึกทักษะ
เงินลงทุนก้อนแรกเป็นเงินเก็บ 1 แสนบาท เลือกซื้อหุ้น บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ด้วยการเล่นตามเรื่องราวทรัพย์สินของตระกูลชินวัตรไปและได้กำไรมา 5 หมื่นบาท
จากนั้นค่อยเติมเงินของตัวเองไปในพอร์ตอีก 2 แสนบาท เลือกเล่นแต่หุ้นใหญ่ พื้นฐานรองรับ ดูจากอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (พี/อี) ดูเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้า สภาพคล่องสูง อย่างบริษัท ปตท. (PTT) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) พร้อมกับศึกษาการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (วีไอ) เขาฝึกฝนจนกระทั่งอ่านงบการเงินย้อนหลังของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มาหลาย 100 แห่ง และเข้าใจการเติบโตบริษัทเหล่านั้น
เริ่มแรกในตลาดหุ้นอาจดีกับเขาแต่พอปี 2547 ไม่ใช่ หุ้นมีความผันผวนมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ศึกษาหุ้นเทคนิคและเริ่มเล่นเก็งกำไรแบบรายวัน เชื่อตามข่าวว่ามีข้อมูลภายในมา (อินไซเดอร์)
แต่สิ่งที่ทำให้เจ็บตัวมากคือ ตอนที่หุ้นเพิ่งจดทะเบียนเข้า ตลท.เป็นวันแรกอย่าง บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) เพราะเห็นราคาเปิดที่ 18 บาท จากราคาไอพีโอที่ 15 บาท โดยมองว่าจะไปต่อแล้วไปซื้อ 22 บาท เป็นจุดยอดดอยจนเด้งมาที่ 20 บาท รีบขายตัดขาดทุนไปทั้งหมด 2 แสนบาท
กรณีนี้ทำให้เขาพบสัจธรรมว่าหากจะเล่นเก็งกำไรต้องรีบตัดขาดทุนให้เร็ว เสียน้อยที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องโกยกำไรได้มากที่สุดเช่นกัน
ปัจจุบันเขามีพอร์ตการลงทุนหลักหลายสิบล้านบาท และมีเป้าหมายเพียงว่าวันหนึ่งพอร์ตต้องแตะที่ 100 ล้านบาท แต่จะไม่กำหนดวันเวลาที่แน่นอนไว้ เพราะไม่อยากกดดันกับตัวเอง โดยพอร์ตแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ พอร์ตระยะยาวที่ลงทุนแบบวีไอ โดยจะไม่มีวันขายหุ้นออกเลย
ยกเว้นถ้าพื้นฐานบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ส่วนใหญ่ยาก และหากหุ้นลงก็จะเป็นจุดที่เข้าไปซื้อหุ้นพวกนี้เพิ่มทันที คิดเป็น 75% ของพอร์ตทั้งหมด เช่น บริษัท ซีพี ออลล์ (CPALL) บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) SCC หรือ INTUCH โดยเงินปันผลที่ได้ทุกปีไม่มีกำหนดเป้าหมายแน่ชัดว่าไปทำอะไร แล้วแต่สถานการณ์ที่บ้างก็ไปลงทุนต่อ หรือไม่ก็ใช้เป็นทุนพาภรรยาและลูก 2 คนไปเที่ยวต่างประเทศ
ขณะที่เหลือ 25% แบ่งเป็นพอร์ตที่ 2 แบบระยะกลาง สำหรับไว้เล่นรอบเทคนิค และพอร์ตที่ 3 แบบสั้นมากคือแบบซื้อขายรายวัน ที่เขาเปรียบการลงทุนส่วนนี้เหมือนการเล่นเกมที่ต้องชนะให้ได้ แต่เข้าใจในเกมดีว่าจะไม่ชนะทุกครั้งไป
“ซัน” บอกว่า หากหุ้นขาดทุนได้ถึง 20% ยอมขายตัดขาดทุนและไม่ปฏิเสธที่จะเล่นหุ้นเก็งกำไร
แต่หากมันลงลึกไปเพียง 2%เขาก็จะเริ่มขายตัดขาดทุนไป เพราะแนวคิดการลงทุนในพอร์ตนี้คือ ต้องทำกำไรได้อาจจะไม่มาก แต่ถึงจุดที่ต้องขาดทุนต้องทำให้เสียเงินให้ได้น้อยที่สุด ซึ่งเขามีวินัยกับตัวเอง เพราะวันไหนที่เขาไม่ได้มีเวลาว่างดูหุ้นอยู่หน้าจอสมาร์ทโฟน เขาจะไม่มีวันเล่นพอร์ตนี้เด็ดขาดเพราะมีความเสี่ยงสูง
จากจุดเริ่มต้นใช้เงินต้น 6 หลัก และพอร์ตลงทุนสู่ 8 หลัก ใช้เวลาทั้งหมด 7 ปี แม้เป้าหมายต่อไปพอร์ตลงทุนโตสู่ตัวเลข 9 หลัก เขาบอกว่าทุกคนสามารถเป็นนักลงทุนหรือเป็นเทรดเดอร์ตัวจริงได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ถ้ารู้จักตัวเอง ถ้ารู้ว่าเสียต้องเสียหายให้น้อยที่สุด และการมีวินัยกับตัวเอง สุดท้ายเราจะรู้เองว่าอะไรเป็นขยะทองคำ