ค่าธรรมเนียม ฟรี! แบบมีเงื่อนไข

05 ตุลาคม 2557

หลังจากเจ็บปวดกับค่าธรรมเนียมเล็กๆ น้อยๆ จากการใช้บริการธนาคารกันมาแล้วถึง 2 สัปดาห์

หลังจากเจ็บปวดกับค่าธรรมเนียมเล็กๆ น้อยๆ จากการใช้บริการธนาคารกันมาแล้วถึง 2 สัปดาห์ สัปดาห์นี้จะขอปลอบใจกันด้วย “บัญชีฟรีค่าธรรมเนียม” ที่เป็นบัญชีเงินฝากแบบพิเศษ ซึ่งตอนนี้มีธนาคารหลายแห่งออกมาเอาใจผู้ฝากเงินที่ไม่อยากจะเสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการเงิน

แต่ก่อนจะไปเปิดบัญชีที่ให้สิทธิพิเศษแบบนี้ ต้องรู้เอาไว้ว่า แม้ว่าจะได้ชื่อว่า บัญชีเงินฝากฟรีค่าธรรมเนียม แต่ก็เป็น “ของฟรีแบบมีเงื่อนไข” เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจ “เครื่องหมายดอกจัน” หรือเงื่อนไขของแต่ละบัญชีเอาไว้ก่อน จะได้ไม่ผิดหวังในภายหลัง

ทำได้...บางอย่าง

บอกไว้ก่อนเลยว่า แม้ว่าบัญชีเงินฝากพวกนี้จะมีคำว่า “ฟรี” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะยกเว้นค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมทุกอย่างให้เราจนหมด เพราะบางอย่างอาจจะทำได้ฟรี แต่บางอย่างก็ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมเหมือนเดิม

บริการฟรีที่เห็นมากที่สุด คือ ค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสดที่ตู้เอทีเอ็มต่างธนาคาร จากปกติที่จะมีค่าธรรมเนียมครั้งละ 10 บาท การถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มต่างธนาคารตั้งแต่ครั้งที่ 5 ในแต่ละเดือน (4 ครั้งแรกฟรี)

แต่ถ้าเป็น “บัญชีฟรีเว่อร์” ของธนาคารธนชาต จะสามารถเบิกถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มได้ทุกธนาคารเดือนละกี่ครั้งก็ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียม ฟรี! แบบมีเงื่อนไข

 

และบริการฟรีที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ ค่าธรรมเนียมโอนเงินต่างธนาคาร จากปกติถ้าเป็นการโอนเงินต่างธนาคารผ่านตู้เอทีเอ็มจะมีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 25 บาท/รายการ สำหรับการโอนเงินไม่เกิน 1 หมื่นบาท แต่ถ้าโอนตั้งแต่ 15 หมื่นบาท เสียค่าธรรมเนียมครั้งละ 35 บาท

ในขณะที่ลูกค้าบัญชีออมทรัพย์ ฟรีค่าธรรมเนียม และบัญชีเงินฝากทีเอ็มบี ธุรกรรมทำฟรี ของธนาคารทหารไทย สามารถโอนเงินต่างธนาคารที่ตู้เอทีเอ็มได้ฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียม

แต่อย่างที่บอก ไม่ใช่ว่าทุกธุรกรรมจะทำได้ฟรี เพราะบางรายการอยู่ในข้อยกเว้น เช่น บัญชีฟรีเว่อร์ ก็ไม่ฟรีสำหรับการโอนเงินต่างธนาคาร

ทำได้...บางช่องทาง

บัญชีฟรีค่าธรรมเนียมส่วนใหญ่จะให้บริการฟรีเมื่อเป็นการทำรายการทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะธนาคารทางอินเทอร์เน็ต และแน่นอนว่า ไม่รวมการทำรายการที่หน้าเคาน์เตอร์สาขาธนาคาร

เช่น บัญชีออมทรัพย์ ฟรีค่าธรรมเนียม และบัญชีเงินฝากทีเอ็มบี ธุรกรรมทำฟรี บอกไว้ชัดเจนว่าจะฟรีค่าธรรมเนียมเมื่อเป็นการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้ง ที่มีอยู่ 5 ช่องทาง ได้แก่ เอทีเอ็ม เครื่องรับฝากเงิน อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ และโทรศัพท์มือถือ

ขณะที่บัญชี Net Fees Zero ของธนาคารกรุงไทย ก็บอกว่า “เป็นบริการพิเศษสำหรับลูกค้าที่ใช้บริการบน KTB netbank เท่านั้น” เช่นเดียวกับบัญชีออมทรัพย์ eSaver ของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ที่เป็น “บัญชีออมทรัพย์ออนไลน์”

ดังนั้น บริการที่จะฟรีค่าธรรมเนียมจึงถูกจำกัดไว้เฉพาะการทำรายการในช่องทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น เช่น บัญชีออมทรัพย์ eSaver เปิดให้ลูกค้าโอนเงินต่างธนาคารฟรี

นอกจากนี้ บัญชีออมทรัพย์ eSaver ยังระบุว่า สามารถฝากเงินในช่องทางไหนก็ได้ แต่ถ้าเป็นการถอนเงิน โอนเงิน ชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ จะต้องเป็นการทำรายการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่ก็ยังสามารถถอนเงินผ่านเคาน์เตอร์สาขาธนาคารได้ แต่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมรายการละ 500 บาท

ทำได้...บางครั้ง

อีกข้อจำกัดหนึ่งที่จำเป็นต้องรู้ก่อนจะใช้บริการบัญชีฟรีค่าธรรมเนียม คือ ของฟรีไม่ได้มีตลอดไป เพราะบางบริการจำกัดจำนวนครั้งของการให้บริการแบบฟรีๆ เช่น

บัญชีออมทรัพย์ ฟรีค่าธรรมเนียม กำหนดไว้ว่า จะให้บริการฟรีสำหรับการทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้ง (ทุกรายการรวมกัน) 20 ครั้ง/เดือน เพราะฉะนั้นถ้าในเดือนนั้นเราทำรายการเกิน 20 ครั้ง จะต้องเริ่มเสียค่าบริการตั้งแต่ครั้งที่ 21 เป็นต้นไป

บัญชีเงินฝากทีเอ็มบี ธุรกรรมทำฟรี กำหนดจำนวนธุรกรรมทำฟรี (สำหรับการทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้ง) ในแต่ละเดือนไว้เพียง 10 ครั้งในแต่ละเดือน และตั้งแต่รายการที่ 11 ขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียมตามอัตราปกติ

ขณะที่บัญชี Net Fees Zero เปิดให้ชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าสินค้าและบริการชำระเงินผ่านช่องทาง KTB netbank ฟรี ในรายการที่ 120 ของเดือน รายการที่เกินจากกำหนดจะต้องเสียค่าธรรมเนียมตามอัตราปกติเช่นกัน และโอนเงินข้ามเขตผ่านช่องทาง KTB netbank ฟรี 15 รายการแรกของเดือน ตั้งแต่รายการที่ 16 ขึ้นไป คิดค่าบริการ 10 บาท/รายการ

เงื่อนไขในข้อนี้ ทำให้เราต้องจดบันทึกกันไว้สักนิดว่า ในแต่ละเดือนเราทำรายการเกินจำนวนครั้งที่กำหนดไว้หรือยัง เพราะถ้าจะให้ฟรีจริงๆ ก็ต้องพยายามใช้บริการอยู่ในจำนวนครั้งที่ธนาคารกำหนดไว้

ดังนั้น อีกสิ่งหนึ่งที่เราจำเป็นต้องรู้ คือ วิธีการนับจำนวนครั้งในการทำธุรกรรมว่าแต่ละบริการมีวิธีการนับจำนวนครั้งอย่างไร จะได้นับไม่พลาด

ธนาคารทหารไทย ระบุ “วิธีการนับจำนวนครั้ง” การทำรายการไว้ในข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการว่า ธุรกรรม 20 รายการแรกของเดือน สำหรับบัญชีออมทรัพย์ ฟรีค่าธรรมเนียม จะนับรวมรายการที่ปกติไม่มีค่าธรรมเนียมอยู่แล้วรวมเข้าไปใน 20 ครั้งนั้นด้วย แต่ไม่รวมธุรกรรมการถามยอดเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม เครื่องรับฝากเงิน ธนาคารทางอินเทอร์เน็ต และทางโทรศัพท์

ขณะที่บัญชีเงินฝากทีเอ็มบี ธุรกรรมทำฟรี กำหนดไว้เช่นกันว่า “ธนาคารนับรวมธุรกรรมที่ตามปกติไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมอยู่แล้วเข้ารวมด้วย แต่ไม่นับรวมธุรกรรมการถามยอดเงินผ่าน Internet Banking/MBanking/Phone Banking ของธนาคาร”

เพราะฉะนั้นถ้าแปลกันตามตัวหนังสือ คนที่ใช้บริการบัญชีเงินฝากทีเอ็มบี ธุรกรรมทำฟรี ก็ต้องนับการถามยอดเงินที่ตู้เอทีเอ็มเป็น 1 ใน 10 รายการที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมด้วย แต่ถ้าเป็นบัญชีออมทรัพย์ ฟรีค่าธรรมเนียม ก็ไม่ต้องนับรวมเข้าไปด้วย

ทำได้...ถ้ามีเงินฝาก

เงื่อนไขในข้อนี้น่าจะพอบอกได้ว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” เพราะเราต้องแลกมาด้วยบางสิ่งบางอย่างเสมอ (ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) สำหรับบัญชีฟรีค่าธรรมเนียม สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ จำนวนเงินฝากที่เราต้องนำไปเปิดบัญชีและรักษายอดเงินในบัญชีเอาไว้ตามที่ธนาคารกำหนด เพราะหากผิดเงื่อนไขก็จะเสียค่าปรับ

บัญชีเงินฝากทีเอ็มบี ธุรกรรมทำฟรี กำหนดว่า ถ้าเราต้องการจะได้รับสิทธิยกเว้นค่าธรรมเนียม เราก็ต้องนำเงินเข้าบัญชีทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง ขั้นต่ำ 1.5 หมื่นบาท (ยอดเดียว) และถ้าไม่มีเงินเข้าบัญชีตามเงื่อนไข ธนาคารจะเก็บค่าธรรมเนียม 50 บาท/เดือน โดยจะหักจากบัญชีในเดือนถัดไป (ถ้าเงินในบัญชีเหลือไม่ถึง 50 บาท ก็จะทดเอาไว้ก่อน และจะหักให้ครบเมื่อมีเงินเข้าบัญชี)

ขณะที่บัญชีออมทรัพย์ ฟรีค่าธรรมเนียม กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำที่จะสามารถเปิดบัญชีเอาไว้ที่ 2 หมื่นบาท และในแต่ละเดือนจะต้องรักษายอดขั้นต่ำไว้ 2 หมื่นบาท แต่ถ้าเดือนไหนมีเงินคงเหลือในบัญชีต่ำกว่า 2 หมื่นบาทติดต่อกันเกิน 3 วัน ธนาคารจะคิดค่าปรับ 200 บาท/เดือน

ถ้าเป็นบัญชีฟรีเว่อร์ จะกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำในการเปิดบัญชีไว้ 500 บาท โดยรักษายอดขั้นต่ำ 500 บาทนี้เอาไว้ นอกจากนี้ในแต่ละเดือนจะต้องมียอดเงินคงเหลือเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท/เดือน และถ้าเดือนไหนมียอดต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท ธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียม 90 บาท/เดือน

ขณะที่บัญชีออมทรัพย์ eSaver กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำที่จะเปิดบัญชีไว้ 1 หมื่นบาท และแม้ว่าจะไม่ต้องรักษายอดขั้นต่ำ แต่ถ้าต้องการปิดบัญชีก่อน 6 เดือน จะมีค่าธรรมเนียม 1,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีบัญชีฟรีค่าธรรมเนียม ที่ไม่มีเงื่อนไขเงินฝากขั้นต่ำ แต่ต้องพ่วงการใช้บริการอื่นๆ เข้าไปด้วย เช่น บัตรเดบิตยูโอบี วีแคร์ อันลิมิต และวีแคร์ เอ็กซ์ตร้า อันลิมิต ของธนาคารยูโอบี ที่ฟรีค่าธรรมเนียมถอนเงินและถามยอดที่ตู้เอทีเอ็มทุกธนาคาร แต่มีค่าธรรมเนียมรายปี 699 บาท และ 1,599 บาท/ปี เพราะเป็นบัญชีพ่วงประกันอุบัติเหตุ

เพราะฉะนั้นถ้าอยากใช้ของฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียม ก็ต้องไม่ลืมตรวจสอบเงื่อนไขการให้บริการเอาไว้ จะได้ไม่ทำผิดเงื่อนไข ได้บริการฟรีๆ แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

Thailand Web Stat