สิ่งทอปากีสถานเรื่องแขกขายผ้า (7)
การผลิตฝ้ายในอนุทวีปอินเดียที่มีอังกฤษอยู่เบื้องหลัง ทำให้อังกฤษทิ้งร่องรอยการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ส่งต่อไปยังอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ ที่บานปลายไปเป็นการเปลี่ยนแปลงในระบอบเศรษฐกิจ 2 ขั้ว คือ ทุนนิยมและสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่ไปปะทุขึ้นทั่วโลก
การผลิตฝ้ายในอนุทวีปอินเดียที่มีอังกฤษอยู่เบื้องหลัง ทำให้อังกฤษทิ้งร่องรอยการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ส่งต่อไปยังอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ ที่บานปลายไปเป็นการเปลี่ยนแปลงในระบอบเศรษฐกิจ 2 ขั้ว คือ ทุนนิยมและสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่ไปปะทุขึ้นทั่วโลก
แม้ยุคสมัยของการเข้าสู่ยุคสิ่งทอเปลี่ยนโลกเมื่อประมาณ 150 ปีได้ล่วงไปแล้ว แต่อินเดียและปากีสถานบ้านพี่เมืองน้องก็ยังมีความสำคัญในการเป็นผู้ปลูกฝ้ายรายใหญ่ของโลก
ขณะนี้อินเดียปลูกฝ้ายมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ถัดไปคือ จีน อเมริกา และปากีสถาน
ในบางจังหวะปากีสถานส่งออกฝ้ายดิบน้อย เพราะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศ และส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำเร็จรูป โดยเฉพาะผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน และผ้าอื่นๆ สู่ตลาดต่างประเทศแทน
หลังจากอังกฤษได้ยุติบทบาทของ British India แล้วแยกพื้นที่ออกเป็นประเทศปากีสถานและอินเดีย เมื่อ ค.ศ. 1947 อังกฤษและเมือง Manchester ก็ได้ปูทางและสอนให้เกิดระบบการผลิตและการค้าสิ่งทอให้กับปากีสถานและอินเดียแทบหมดพุง จนทำให้ 2 ประเทศนี้เป็น นักธุรกิจค้าสิ่งทอตัวกลั่นในโลกในเวลาต่อมา
ถึงตรงนี้คงเป็นคำตอบแล้วนะคะว่า... ทำไมแขกจึงขายผ้า?
อินเดียและปากีสถานแยกประเทศกันออกไปแล้วก็มีโรงงานผลิตผ้าขึ้นมากมายใน 2 ประเทศ และมีพื้นที่ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นเมือง Manchester อยู่ทั้งในอินเดียและปากีสถาน
ในอินเดียนั้น The Manchester of India คือเมือง Ahmedabad อยู่ในรัฐ Gujarat และบางทีแขกอินเดียก็เรียกให้เว่อร์หนักไปว่า The Manchester of the East อุตสาหกรรมสิ่งทอของอินเดียตั้งต้นผลิตเป็นครั้งแรกที่เมือง Ahmedabad ตั้งแต่สมัยเป็น British India คือตั้งแต่เมื่อ ค.ศ. 1861 ซึ่งมีเพียง 3 โรงงาน ขณะนี้มีมากถึง 62 โรงงาน ปัจจุบัน Ahmedabad เป็นแหล่งผลิตผ้าที่สำคัญของอินเดียส่งขาย ทั่วโลก
มหาตมะ คานธี ได้ทำอารยะขัดขืนสู้กับอังกฤษที่เมือง Ahmedabad นี่เอง เมื่ออังกฤษได้ทำให้เกิดการแยกปากีสถานออกไปจากอินเดีย คนมุสลิมจากอินเดียได้อพยพออกไปอยู่ปากีสถาน ส่วนคนฮินดูจากปากีสถานได้อพยพเข้ามาอยู่ที่เมือง Ahmedabad ส่วนทางปากีสถานก็ได้เรียกเมือง Faisalabad ของตนว่า The Manchester of Pakistan ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมการผลิตเกี่ยวกับสิ่งทอประมาณ 40 โรงงาน
Faisalabad เป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของปากีสถานรองจาก Karachi และ Lahore อยู่ในแคว้นปัญจาบแถวลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งไม่ไกลจากเมือง Lahore และไม่ไกลจากชายแดนอินเดีย คนสนใจติดต่อเกี่ยวกับธุรกิจสิ่งทอปากีสถานจะรู้ว่าแหล่งผลิตสิ่งทอปากีสถานอยู่ที่นั่น
ท่านผู้อ่านคะ... คำว่าแมนเชสเตอร์นั้นยังศักดิ์สิทธิ์และมีมนต์ขลังอยู่จริงๆ ค่ะ หากเราเห็นคำว่า Manchester ถูกนำไปเรียกติดอยู่กับชื่อของผ้าหรือการตัดเย็บใดๆ ก็ให้เข้าใจไว้คร่าวๆ หรือเดาเอาได้เลยว่า...
นั่นชื่อทางภูมิศาสตร์การผลิตที่เป็นตำนานเกี่ยวกับการกำเนิดการผลิตสิ่งทอที่เปลี่ยนโลก และมีความหมายรวมไปถึงคุณภาพที่ รับประกันได้ว่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอนั้นมีระดับที่ควรค่าแห่งการซื้อหา
คำว่า Manchester จะทำให้สินค้าดูดีและมีราคาแพงขึ้นไปอีก ถ้าจะ Positioning สินค้าทั้งสิ่งทอและเสื้อผ้าให้อยู่ในระดับเหนือชั้น พวกทำการตลาดมักจะไม่ลืมที่จะทำให้สินค้ามีกลิ่นอายที่ทำให้นึกไปถึงเมือง Manchester ที่ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอกลายมาเป็นสินค้าที่เปลี่ยนโลก และอาจคิดไปถึง Friedrich Engels / Karl Marx / The Have & The HaveNots ที่ผู้เขียนได้โยงเล่าให้เห็นในหลายตอนที่ผ่านมา
ส่วนแขกขายผ้าอินเดียกับปากีสถานยังเกาะติดคำว่า Manchester ไม่ยอมปล่อยเช่นกันค่ะ...
(อ่านต่อวันอังคารหน้าค่ะ)