ใครเป็นผู้ออกสินค้าและสัญญาที่ซื้อขายใน TFEX?

14 พฤศจิกายน 2557

หากท่านเป็นคนหนึ่งที่เคยสงสัยเกี่ยวกับ Futures และ Options ที่ซื้อขายใน TFEX ว่าใครเป็นเจ้าของ มีโบรกเกอร์หรือกองทุนอะไรเป็นผู้ออกสินค้าเหล่านี้บ้าง ในสัปดาห์นี้คอลัมน์นัดพบ TFEX ขอนำข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าวมาทำความเข้าใจถึงกลไกการออกสินค้าในตลาด TFEX ที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนทุกๆ คนสามารถเป็นเจ้าของ หรือออกสัญญาได้ทุกประเภทที่ต้องการตลอดการซื้อขาย รวมทั้งมีโอกาสทางการลงทุนเพิ่มมากขึ้นกันนะครับ

หากท่านเป็นคนหนึ่งที่เคยสงสัยเกี่ยวกับ Futures และ Options ที่ซื้อขายใน TFEX ว่าใครเป็นเจ้าของ มีโบรกเกอร์หรือกองทุนอะไรเป็นผู้ออกสินค้าเหล่านี้บ้าง ในสัปดาห์นี้คอลัมน์นัดพบ TFEX ขอนำข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าวมาทำความเข้าใจถึงกลไกการออกสินค้าในตลาด TFEX ที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนทุกๆ คนสามารถเป็นเจ้าของ หรือออกสัญญาได้ทุกประเภทที่ต้องการตลอดการซื้อขาย รวมทั้งมีโอกาสทางการลงทุนเพิ่มมากขึ้นกันนะครับ

เมื่อพูดถึงการออกสินค้าโดยทั่วไป เรามักจะนึกถึงการสร้างสินค้าดังกล่าวให้เกิดขึ้นเพื่อมีซื้อขายในตลาด อย่างกรณีหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์ที่บริษัทจดทะเบียนเป็นผู้ออก เช่น หุ้น PTT ที่ออกโดย บริษัท ปตท. เป็นต้น ภายใต้วัตถุประสงค์ด้านการระดมทุนจากผู้ลงทุน และเมื่อระดมทุนเสร็จก็เปิดให้มีการซื้อขายได้ในตลาดหุ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนมือผู้ถือ นอกจากนี้ สินค้าในตลาดหุ้น อย่างเช่น Warrants หรือ Derivative Warrants ที่อ้างอิงราคาสินค้าอื่นๆ ก็มีเกณฑ์และแนวทางชัดเจนว่าใครเป็นผู้ออกและใครเป็นเจ้าของ ทำให้ผู้ลงทุนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเจ้าของหรือผู้ออกสินค้าทางการเงินทุกประเภทจะจำกัดอยู่เฉพาะบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ หรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้ลงทุนทั่วไปก็สามารถเป็นผู้ออกสินค้าเพื่อซื้อขายได้เช่นกัน แต่โอกาสที่จะออกหรือเป็นเจ้าของสินค้าต้องเข้ามาดำเนินการในตลาดล่วงหน้าอย่างตลาด TFEX

การที่ผู้ลงทุนสามารถออกสินค้าหรือเป็นเจ้าของสินค้าใน TFEX ได้นั้นก็เนื่องจากตลาด TFEX จะกำหนดแนวทางไว้เป็นรายละเอียดของลักษณะสินค้าที่จะซื้อขายอย่างชัดเจน และเปิดกว้างให้ผู้ลงทุนทุกประเภทได้เข้ามาซื้อขายภายใต้กติกาเดียวกัน โดยเมื่อ TFEX ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับ (ในที่นี้คือ ก.ล.ต.) ให้มีสัญญาดังกล่าวซื้อขายในตลาดได้แล้ว ผู้ลงทุนไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือสถาบันการเงินประเภทต่างๆ ก็ซื้อขายได้โดยเสรี อย่างเช่น SET 50 Index Futures ที่ผู้ลงทุนรายย่อยหรือผู้ลงทุนสถาบันเข้ามาซื้อหรือขายในตลาด TFEX ก็เป็นสัญญาที่มีรายละเอียดเหมือนกัน โดยไม่ได้มีข้อกำหนดเป็นการเฉพาะ อย่างเช่นผู้ลงทุนรายย่อยซื้อได้อย่างเดียว หรือผู้ลงทุนสถาบันสามารถเป็นผู้ขายได้เท่านั้น

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน ลองมาดูตัวอย่าง Derivative Warrants (DW) และ Options ซึ่งทั้งสองสินค้านี้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เป็นสัญญาสิทธิที่จะซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิงในอนาคตตามราคาใช้สิทธิ อีกทั้งปัจจุบันก็มี DW ที่อ้างอิงดัชนี SET50 Index เช่นเดียวกับ Options แต่ DW ซื้อขายในตลาดหุ้นโดยมีโบรกเกอร์เป็นผู้ออก ในขณะที่ Options มีการซื้อขายในตลาด TFEX โดยผู้ออก Options หรือผู้ลงทุนที่ Short Options จะเป็นผู้ลงทุนได้ทุกประเภทที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการวางหลักประกัน

นอกจากนี้ จำนวนหน่วยและการเพิ่มลดของการซื้อขายหน่วยของ DW จะมีข้อจำกัดขึ้นอยู่กับนโยบายของโบรกเกอร์ที่ออก DW ในขณะที่ Options เป็นสัญญาที่เกิดจากการจับคู่ จึงเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนทุกประเภทสามารถเข้ามาซื้อขายและมีการเกิด Options ได้ตลอดการซื้อขายของตลาด TFEX เป็นผลให้จำนวนสัญญาและการออกสัญญามีความคล่องตัวสูง

จะเห็นได้ว่าจากคุณสมบัติที่ผู้ลงทุนทุกประเภทสามารถออกสินค้าได้ในตลาด TFEX ตามตัวอย่างการซื้อขาย Optionsข้างต้น ทำให้ตลาด TFEX จึงเป็นอีกเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนทุกๆ ประเภทสามารถสร้างผลตอบแทนได้เช่นเดียวกับผู้ลงทุนสถาบันที่มีการให้บริการสินค้าทางการเงิน แต่อย่างไรก็ตามการออกสินค้าในลักษณะดังกล่าวมีความเสี่ยงหลายประเภทที่ผู้ออกต้องจัดการ ดังนั้น ผู้ลงทุนที่มองเห็นโอกาสทางการเงิน เช่น เห็นแนวทางที่จะสร้างผลตอบแทนเช่นเดียวกับผู้ออก DW และมีความสนใจที่จะปรับใช้ในตลาด TFEX จะต้องเข้าใจถึงความเสี่ยงของกลยุทธ์ดังกล่าว อีกทั้งต้องมีการจัดการความเสี่ยงอย่างมีระบบเพื่อให้มั่นใจในผลของการทำกำไร ซึ่งคอลัมน์จะนำเสนอในรายละเอียดในตอนต่อๆ ไปนะครับ

Thailand Web Stat