posttoday

ตามหา LTF ที่ใช่ ในใจกูรูกองทุน

23 พฤศจิกายน 2557

ถ้าเดินเข้าไปถามพนักงานธนาคาร ว่า ซื้อกองทุนรวมหุ้นระยาว (LTF) กองทุนไหนดี

โดย...สวลี ตันกุลรัน์

ถ้าเดินเข้าไปถามพนักงานธนาคาร ว่า ซื้อกองทุนรวมหุ้นระยาว (LTF) กองทุนไหนดี ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่พนักงานจะเชียร์ให้ซื้อกองทุนที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในเครือธนาคารบริหารอยู่ และก็คงไม่ได้หยิบยกเอากองทุนของค่ายอื่นๆ มาเปรียบเทียบให้เห็น หรือถ้าจะมีการเปรียบเทียบก็มักจะเลือกหยิบมุมที่ทำให้กองทุนของธนาคารดูดีที่สุด

แต่เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2558 การขายหน่วยลงทุนจะต้องหยิบยกผลดำเนินงานของกองทุนอื่นๆ มาเปรียบเทียบให้ลูกค้าดูเพื่อประกอบการพิจารณาเลือกลงทุนด้วย

นอกจากนี้ คนที่เป็นตัวแทนขายกองทุนจะต้องเปิดเผย “ค่าคอมมิชชั่น” หรือค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ได้จากการขายกองทุนให้ลูกค้ารับรู้ด้วย เพื่อจะได้ไม่มีข้อสงสัยว่ากองทุนที่แนะนำให้ลูกค้าลงทุนเป็นกองทุนที่ดีจริงๆ หรือแนะนำเพราะได้ค่าคอมมิชชั่นที่ดีกว่า

แต่ถ้ายังคิดไม่ออก ไม่รู้จะเลือกลงทุนกองทุนไหนดี ต้องมองหาคำแนะนำจาก “คนกลาง” ที่จะมาบอกว่ากองทุนไหนน่าสนใจลงทุนบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นโชคดีของนักลงทุนในปัจจุบัน เพราะมีทั้งเครื่องมือช่วยคัดกรองและจัดอันดับกองทุนที่น่าสนใจ แถมยังมี “กูรูคนดัง” มาให้ความเห็นประกอบการลงทุนของเราด้วย

ตามหา LTF ที่ใช่ ในใจกูรูกองทุน

 

เครื่องมือแรกที่นักลงทุนกองทุนต้องทำความรู้จัก คือ การจัดอันดับกองทุนของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เข้าไปทดลองหาข้อมูลได้ในเว็บไซต์morningstarthailand.com ซึ่งนอกจากจะให้ข้อมูลผลดำเนินงานในอดีตของแต่ละกองทุนแล้ว มอร์นิ่งสตาร์ฯ ยังจัดเรตติ้งหรืออันดับเครดิตกองทุนจากผลดำเนินงานอดีตปรับด้วยความเสี่ยง กองทุนที่ดีที่สุดจะได้ 5 ดาว

แต่ถ้าอยากรู้ว่ากองทุนไหนทำผลงานได้ดี “ติดชาร์ต” อย่างต่อเนื่อง แนะนำให้เข้าไปดูได้ที่รายงาน Top Charts ในเว็บไซต์ wealthmagik.com ที่จัดอันดับกองทุนรวมที่ติดอันดับผลดำเนินงานดีต่อเนื่องนานที่สุด

สมิทธ์ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ แนะนำว่า หากนักลงทุนเลือกกองทุนจากผลดำเนินงานย้อนหลัง ควรจะให้ความสำคัญทั้งผลการดำเนินงานย้อนหลังในระยะยาว และผลดำเนินงานในแต่ละปี ซึ่งเป็นผลงานในระยะสั้น เพราะหลายกองทุนที่เคยมีผลงานในอดีตดี อาจจะมีผลงานไม่ดีในปีนี้ก็ได้

“ถ้าเราดูเฉพาะผลงานระยะยาวอย่างเดียว อาจจะเสียโอกาสที่จะลงทุนในกองทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุน หรือผู้จัดการกองทุนที่เริ่มจะมีผลงานที่ดี” สมิทธ์ กล่าว

แต่ถ้าดูทั้งผลดำเนินงานระยะยาวและระยะสั้นแล้วก็ยังเลือกไม่ถูก ลองมาดูว่า “กูรูกองทุน” เขาเลือก LTF กองทุนไหนให้เป็นดาวเด่นสำหรับปีนี้

สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล นักวิเคราะห์กองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำกองทุน LTF ที่มีสไตล์การลงทุนแบบ Active Fund ไว้ 4 กองทุน คือ CGLTF, ABLTF, MSCORE LTF และ PLTF พร้อมกับให้เหตุผลในแต่ละกองทุนว่า

CGLTF เน้นการลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ มีการเติบโตสูง มีการปรับเปลี่ยนหุ้นค่อนข้างไว ทำให้ระยะสั้นมีความผันผวนสูง แต่ก็ให้ผลตอบแทนที่สูงมากด้วย

ABLTF เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่มีพื้นฐานดี และถือลงทุนระยะยาว ทำให้ผลตอบแทนระยะยาวดี และไม่ผันผวน

MSCORE LTF เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่มาก และหุ้นเติบโตสูงที่ราคาไม่แพง โดยใช้สไตล์การลงทุนแบบซื้อมาขายไป

PLTF เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ มีการเติบโตเร็ว ทำให้ผลดำเนินงานดีขึ้นมาก และมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง

ชยนนท์ รักกาญจนันท์ ผู้จัดการกลุ่มที่ปรึกษาทางการเงิน ธนาคารกรุงศรี หรือที่นักลงทุนรู้จักในชื่อ “Mr.Messenger” แนะนำการเลือกกองทุน LTF โดยหลังจากได้รายชื่อกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 20 อันดับแรกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแล้ว ให้พิจารณา 3 ข้อต่อไปนี้

1) S.D. หรือความผันผวน ควรจะต่ำ

2) Max Drawdown หรือโอกาสขาดทุนมากที่สุด ไม่ควรติดลบหนัก และ

3) ค่า Sharpe Ratio หรือผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยง ควรจะสูงกว่ากองทุนอื่น

“ถ้าเลือกบนวิธีคิดแบบนี้ ผลลัพธ์ที่ได้คือกองทุนที่มีความผันผวนต่ำ ผลตอบแทนสม่ำเสมอ นั่นก็คือ BLTF และ BIG CAPD LTF” ชยนนท์ สรุปผลการคัดเลือกกองทุน LTF ในมุมมองของเขา

ขณะที่ ธนัฐ ศิริวรางกูร หรือหมอนัท คลินิกกองทุน ในเว็บไซต์ aommoney.com เลือกออกมา 6 กองทุน ประกอบด้วย ABLTF, BLTF, CGLTF, 1SGLTF, PLTF และ MSCORE LTF เพราะทำผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี ได้ดี ทั้งดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นไทย และที่สำคัญคือ สามารถรักษาระดับผลตอบแทนให้อยู่ในอันดับ 110 ได้สม่ำเสมอ

แต่เรามีกองทุน LTF ในดวงใจของเราอยู่แล้ว และยังพอใจกับรูปแบบ หรือสไตล์การลงทุนของกองทุนนั้น ขณะที่ผลงานที่ผู้จัดการกองทุนนั้นทำได้ไม่แพ้กองทุนอื่นๆ ก็น่าจะลงทุนกองทุนนั้นต่อเนื่องได้

เว้นแต่ว่ากองทุนที่เคยซื้อไว้ทำกำไรไม่น่าพอใจ สามารถสับเปลี่ยนไปลงทุนกองทุนอื่นได้ โดยจะเป็นกองทุน LTF ใน บลจ.เดียวกัน หรือจะสับเปลี่ยนข้ามไป บลจ.อื่นก็ได้ (อย่าลืมตรวจสอบค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน) เพราะในชีวิตจริงไม่มีกองทุนที่ดีที่สุดตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม เวลาที่คิดถึงกองทุนรวมที่ช่วยประหยัดภาษี คนส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าไปที่ LTF เพราะคิดว่าไม่มีภาระผูกพัน ลงทุนสั้นๆ แค่ 5 ปีปฏิทิน ก็สามารถขายคืนได้แล้ว แต่ในการวางแผนการเงินที่ดี ควรจะเริ่มจากการวางแผนลงทุนเพื่อวัยเกษียณเป็นอันดับแรก

ฉะนั้น เราควรเริ่มจากการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเกษียณ (RMF) จนเต็มเพดานก่อน แล้วถ้ายังมีวงเงินเหลือสำหรับหุ้นจึงค่อยขยับออกมาซื้อ LTF

แต่ไม่ว่าจะตัดสินใจซื้อกองทุนอะไร ก็อย่ารอให้ถึงเดือน ธ.ค.เลย เพราะจากสถิติ 10 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 2 ปีเท่านั้น (ปี 2549 และ 2556) ที่ดัชนีหุ้นไทยในเดือน ธ.ค. ต่ำกว่าเดือน พ.ย. หมายความว่า ถ้ารอไปซื้อในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ธ.ค. เท่ากับว่าเราจะซื้อแพงกว่า