ตามหา LTF ที่ใช่ในใจกูรูกองทุน
หากไม่รู้จะเลือกลงทุนกองทุนไหนดี ลองมาดูคำแนะนำจาก "คนกลาง" ที่จะมาบอกว่ากองทุนไหนน่าสนใจลงทุน
โดย...สวลี ตันกุลรัตน์
ถ้าเดินเข้าไปถามพนักงานธนาคาร ว่า ซื้อกองทุนรวมหุ้นระยาว (LTF) กองทุนไหนดี ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่พนักงานจะเชียร์ให้ซื้อกองทุนที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในเครือธนาคารบริหารอยู่ และก็คงไม่ได้หยิบยกเอากองทุนของค่ายอื่นๆ มาเปรียบเทียบให้เห็น หรือถ้าจะมีการเปรียบเทียบ ก็มักจะเลือกหยิบมุมที่ทำให้กองทุนของธนาคารดูดีที่สุด
แต่เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2558 การขายหน่วยลงทุนจะต้องหยิบยกผลดำเนินงานของกองทุนอื่นๆ มาเปรียบเทียบให้ลูกค้าดูเพื่อประกอบการพิจารณาเลือกลงทุนด้วย
นอกจากนี้ คนที่เป็นตัวแทนขายกองทุนจะต้องเปิดเผย "ค่าคอมมิชชั่น" หรือค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ได้จากการขายกองทุนให้ลูกค้ารับรู้ด้วย เพื่อจะได้ไม่มีข้อสงสัยว่ากองทุนที่แนะนำให้ลูกค้าลงทุนเป็นกองทุนที่ดีจริงๆ หรือแนะนำเพราะได้ค่าคอมมิชชั่นที่ดีกว่า
แต่ถ้ายังคิดไม่ออก ไม่รู้จะเลือกลงทุนกองทุนไหนดี ต้องมองหาคำแนะนำจาก "คนกลาง" ที่จะมาบอกว่ากองทุนไหนน่าสนใจลงทุนบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นโชคดีของนักลงทุนในปัจจุบัน เพราะมีทั้งเครื่องมือช่วยคัดกรองและจัดอันดับกองทุนที่น่าสนใจ แถมยังมี "กูรูคนดัง" มาให้ความเห็นประกอบการลงทุนของเราด้วย
เครื่องมือแรกที่นักลงทุนกองทุนต้อง ทำความรู้จัก คือ การจัดอันดับกองทุน ของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เข้าไปทดลองหาข้อมูลได้ในเว็บไซต์ morningstarthailand.com ซึ่งนอกจากจะให้ ข้อมูลผลดำเนินงานในอดีตของแต่ละ กองทุนแล้ว มอร์นิ่งสตาร์ฯ ยังจัดเรตติ้ง หรืออันดับเครดิตกองทุนจากผลดำเนินงานอดีตปรับด้วยความเสี่ยง กองทุนที่ดีที่สุดจะ ได้ 5 ดาว
แต่ถ้าอยากรู้ว่ากองทุนไหนทำผลงานได้ดี "ติดชาร์ต" อย่างต่อเนื่อง แนะนำให้เข้าไปดูได้ที่รายงาน Top Charts ในเว็บไซต์ wealthmagik.com ที่จัดอันดับกองทุนรวมที่ติดอันดับผลดำเนินงานดีต่อเนื่องนานที่สุด
สมิทธ์ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ แนะนำว่า หากนักลงทุนเลือกกองทุนจากผลดำเนินงานย้อนหลัง ควรจะให้ความสำคัญทั้งผลการดำเนินงานย้อนหลังในระยะยาว และผลดำเนินงานในแต่ละปี ซึ่งเป็นผลงานในระยะสั้น เพราะหลายกองทุนที่เคยมีผลงานในอดีตดี อาจจะมีผลงานไม่ดีในปีนี้ก็ได้
"ถ้าเราดูเฉพาะผลงานระยะยาวอย่างเดียว อาจจะเสียโอกาสที่จะลงทุนในกองทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุน หรือผู้จัดการกองทุนที่เริ่มจะมีผลงานที่ดี" สมิทธ์ กล่าว
แต่ถ้าดูทั้งผลดำเนินงานระยะยาวและระยะสั้นแล้วก็ยังเลือกไม่ถูก ลองมาดูว่า "กูรูกองทุน" เขาเลือก LTF กองทุนไหนให้เป็นดาวเด่นสำหรับปีนี้
สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล นักวิเคราะห์กองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) แนะนำกองทุน LTF ที่มีสไตล์การลงทุนแบบ Active Fund ไว้ 4 กองทุน คือ CG-LTF, ABLTF, MS-CORE LTF และ P-LTF พร้อมกับให้เหตุผลในแต่ละกองทุนว่า CG-LTF เน้นการลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ มีการเติบโตสูง มีการปรับเปลี่ยนหุ้นค่อนข้างไว ทำให้ระยะสั้นมีความผันผวนสูง แต่ก็ให้ผลตอบแทนที่สูงมากด้วย
ABLTF เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่มีพื้นฐานดี และถือลงทุนระยะยาว ทำให้ผลตอบแทนระยะยาวดี และไม่ผันผวน
MS-CORE LTF เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่มาก และหุ้นเติบโตสูงที่ราคาไม่แพง โดยใช้สไตล์การลงทุนแบบซื้อมาขายไป
P-LTF เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ มีการเติบโตเร็ว ทำให้ผลดำเนินงานดีขึ้นมาก และมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง
ชยนนท์ รักกาญจนันท์ ผู้จัดการกลุ่มที่ปรึกษาทางการเงิน ธนาคารกรุงศรี หรือที่นักลงทุนรู้จักในชื่อ "Mr.Messenger" แนะนำการเลือกกองทุน LTF โดยหลังจากได้รายชื่อกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 20 อันดับแรกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแล้ว ให้พิจารณา 3 ข้อต่อไปนี้
1) S.D. หรือความผันผวน ควรจะต่ำ
2) Max Drawdown หรือโอกาสขาดทุนมากที่สุด ไม่ควรติดลบหนัก
3) ค่า Sharpe Ratio หรือผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยง ควรจะสูงกว่ากองทุนอื่น
"ถ้าเลือกบนวิธีคิดแบบนี้ ผลลัพธ์ที่ได้คือกองทุนที่มีความผันผวนต่ำ ผลตอบแทนสม่ำเสมอ นั่นก็คือ B-LTF และ BIG CAP-D LTF" ชยนนท์ สรุปผลการคัดเลือกกองทุน LTF ในมุมมองของเขา
ขณะที่ ธนัฐ ศิริวรางกูร หรือหมอนัท คลินิกกองทุน ในเว็บไซต์ aommoney.com เลือกออกมา 6 กองทุน ประกอบด้วย ABLTF, B-LTF, CG-LTF, 1SG-LTF, P-LTF และ MS-CORE LTF เพราะทำผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี ได้ดี ทั้งดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นไทย และที่สำคัญคือ สามารถรักษาระดับผลตอบแทนให้อยู่ในอันดับ 1-10 ได้สม่ำเสมอ
แต่เรามีกองทุน LTF ในดวงใจของเราอยู่แล้ว และยังพอใจกับรูปแบบ หรือสไตล์การลงทุนของกองทุนนั้น ขณะที่ผลงานที่ผู้จัดการกองทุนนั้นทำได้ไม่แพ้กองทุนอื่นๆ ก็น่าจะลงทุนกองทุนนั้นต่อเนื่องได้
เว้นแต่ว่ากองทุนที่เคยซื้อไว้ทำกำไรไม่น่าพอใจ สามารถสับเปลี่ยนไปลงทุนกองทุนอื่นได้ โดยจะเป็นกองทุน LTF ใน บลจ.เดียวกัน หรือจะสับเปลี่ยนข้ามไป บลจ.อื่นก็ได้ (อย่าลืมตรวจสอบค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน) เพราะในชีวิตจริงไม่มีกองทุนที่ดีที่สุดตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม เวลาที่คิดถึงกองทุนรวมที่ช่วยประหยัดภาษี คนส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าไปที่ LTF เพราะคิดว่าไม่มีภาระผูกพัน ลงทุนสั้นๆ แค่ 5 ปีปฏิทิน ก็สามารถขายคืนได้แล้ว แต่ในการวางแผนการเงินที่ดี ควรจะเริ่มจากการวางแผนลงทุนเพื่อวัยเกษียณเป็นอันดับแรก
ฉะนั้น เราควรเริ่มจากการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเกษียณ (RMF) จนเต็มเพดานก่อน แล้วถ้ายังมีวงเงินเหลือสำหรับหุ้นจึงค่อยขยับออกมาซื้อ LTF
แต่ไม่ว่าจะตัดสินใจซื้อกองทุนอะไร ก็อย่ารอให้ถึงเดือน ธ.ค.เลย เพราะจากสถิติ 10 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 2 ปีเท่านั้น (ปี 2549 และ 2556) ที่ดัชนีหุ้นไทยในเดือน ธ.ค. ต่ำกว่าเดือน พ.ย. หมายความว่า ถ้ารอไปซื้อในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ธ.ค. เท่ากับว่าเราจะซื้อแพงกว่า