จับตาที่ดินพุ่ง 50 % เวนคืนแนวรถไฟฟ้า 4 สาย
ทันทีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินก่อสร้างรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง
โดย...วงศ์สุภัทร์ คงสวัสดิ์
ทันทีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินก่อสร้างรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง ได้แก่ สายสีเขียว หมอชิตสะพานใหม่คูคต สายสีชมพู แครายมีนบุรี สายสีเหลือง ลาดพร้าวสำโรง และสายสีส้ม ตลิ่งชันศูนย์วัฒนธรรมมีนบุรี โดยตั้งงบเวนคืนที่ดิน 2.7 หมื่นล้านบาท
ถือเป็นการการันตีว่าจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าในอีกไม่ช้า แม้ว่าล่าสุดโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 4 เส้นทาง จะยังอยู่ในขั้นตอนเสนอ ครม.อนุมัติก็ตาม
ทว่า ผลพวงที่ตามมาจากการเวนคืนที่ดินดังกล่าวจะทำให้ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ราคาประเมินและราคาที่ดินที่ซื้อขายกันในตลาด แต่ในขณะเดียวกันบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในแนวเวนคืนที่ดินสร้างรถไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
“เมื่อ รฟม.จะเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ทำให้ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นอย่างน้อย 3050% ยกตัวอย่าง การเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อท่าพระ และหัวลำโพงบางแค บางแปลงค่าเวนคืนสูงถึง 400 ล้านบาท ในขณะที่หลักการเวนคืนที่ดิน คือ หากเป็นที่ดินในเมือง รฟม.จะเวนคืนที่ดินน้อย เพื่อที่จ่ายชดเชยจะได้ไม่สูง แต่ถ้าเป็นที่ดินนอกเมืองก็จะเวนคืนพื้นที่มากหน่อย เพราะค่าเวนคืนที่ดินจะได้ไม่สูงมากนัก” อดุลย์เวทย์ จิตรประเสริฐ รักษาการแทนผู้อำนวยการฝ่ายจัดกรรมสิทธิ์ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุ
อดุลย์เวทย์ ยังอธิบายถึงหลักการในการประเมินราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนว่า รฟม.จะนำราคาที่ดินที่มีการซื้อขายจริงในตอนนั้นมาบวกกับค่าชดเชยส่วนเพิ่ม และที่ผ่านมาพบว่าค่าชดเชยกรณีเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% เช่น วัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ ย่านเยาวราช ที่เดิมราคาที่ดินที่ซื้อขายเดิมอยู่ที่ 33.5 แสนบาท/ตารางวา แต่ที่แถบนี้ รฟม.ต้องจ่ายค่าเวนคืนจริงสูงถึง 7 แสนบาท/ตารางวา หรือสูงกว่าเดิมเป็นเท่าตัว
เช่นเดียวกับการเวนคืนที่ดินตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง อดุลย์เวทย์ ระบุว่า ฝ่ายจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน รฟม.จะลงพื้นที่สำรวจแนวเส้นทางเวนคืนที่ดินสายสีเขียวและสีชมพูได้ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือส่งให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในแนวเขตเวนคืน ซึ่งก่อนหน้านี้มีการรับฟังความคิดเห็นการเวนคืนที่ดินแนวรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ส่วนแนวสายสีเขียวและสีชมพูจะมีการดำเนินการหลังจากนี้และรายงาน ครม.เป็นระยะๆ
“สิ่งที่ชาวบ้านต้องการทราบในการเวนคืนที่ดินจะมีอยู่ 3 เรื่องหลักๆ คือ 1.จะเวนคืนที่ดินไปทำอะไร 2.จะได้เงินเท่าไร และ 3.จะต้องไปเมื่อไร แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาที่พบบ่อยมาก คือ ผู้ที่ถูกเวนคืนที่ดินต้องการค่าชดเชยที่สูงๆ ทำให้เกิดความยุ่งยากและเกิดความแตกต่างในการชดเชย เช่น บ้านหลังหนึ่งมีการตกแต่งแบบบิลต์อิน แต่บ้านข้างๆ ซื้อตู้มาวางไว้ อย่างนี้ราคาชดเชยจะแตกต่างกัน ส่วนสินทรัพย์ที่นำมาประเมินแล้วจ่ายเป็นค่าเวนคืน คือ ที่ดิน บ้าน หรือสิ่งปลูกสร้าง การตกแต่งต่อเติม ค่าขนย้าย ค่าติดตั้งรื้อถอนอุปกรณ์ ต้นไม้ และค่าขาดประโยชน์ เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม การเวนคืนที่ดินในหลายพื้นที่มีปัญหา คือ ประชาชนไม่พอใจค่าเวนคืนที่ดิน แต่ในทางกฎหมายผู้ถูกรอนสิทธิจะทำได้ 2 กรณี คือ 1.ตกลงทำสัญญา และตกลงรับเงินไปก่อน แต่มีเงื่อนไขว่าหลังรับเงินแล้วจะขออุทธรณ์เพื่อขอเงินเพิ่มได้ภายใน 60 วัน ก่อนเสนอให้ รมว.คมนาคม พิจารณา แต่หากประชาชนยังไม่พอใจก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้
และ 2.ผู้ถูกเวนคืนไม่พอใจ ไม่เห็นด้วยกับการเวนคืน และไม่มาทำสัญญา รฟม.จะนำเงินไปฝากธนาคารออมสินไว้ให้ และได้ดอกผลจากเงินฝาก โดยผู้ถูกเวนคืนสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์และฟ้องร้องตามกฎหมายได้
“เรื่องที่ชาวบ้านขออุทธรณ์หรือฟ้องร้องกรณีเวนคืนที่ดิน ปกติจะมีการฟ้องร้องกันประมาณ 10% ของแต่ละเส้นทาง เช่น ราคาไม่เป็นธรรม และค่าขาดประโยชน์” อดุลย์เวทย์ บอก
แน่นอนว่าการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างรถไฟฟ้าจะเกิดประโยชน์ต่อการเดินทางของประชาชนในภาพรวม แต่ค่าสูญเสียโอกาสของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกไล่ที่ดินจะต้องได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ และต้องไม่น้อยกว่านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อที่ดินตุนเก็บไว้ รอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการสร้างคอนโดราคาแพงๆ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า