บุญรอดร่วมมารุเซ็นฯลุยชาหรู
มารุเซ็นฯ ปักหลักไทย ส่งออกชาทั่วโลก วาด 3 ปีขายแตะพันล้าน เจาะรีเทล ฟู้ดเซอร์วิส
มารุเซ็นฯ ปักหลักไทย ส่งออกชาทั่วโลก วาด 3 ปีขายแตะพันล้าน เจาะรีเทล ฟู้ดเซอร์วิส
นายพงษ์รัตน์ เหลืองธำรงเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มารุเซ็น ฟู้ด (ไทยแลนด์) เปิดเผยว่า หลังกลุ่มบุญรอดร่วมทุนกับมารุเซ็น ฟู้ด ประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตชาพรีเมียม 1 ใน 5 ผู้นำตลาดญี่ปุ่นทำธุรกิจมานานกว่า 70 ปี ตั้งโรงงานในไทย บริษัทจะใช้ไทยเป็นฐานผลิตชาเพื่อส่งออกไปทั่วโลก ยกเว้นญี่ปุ่นที่ยังใช้ญี่ปุ่นผลิต
ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวตั้งขึ้นด้วยทุน จดทะเบียน 60 ล้านบาท โดยบริษัท บุญรอดฟาร์ม ในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ถือหุ้น 51% มารุเซ็นญี่ปุ่นถือหุ้น 49% เบื้องต้นใช้เงินลงทุน 140 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานผลิตชาที่ไร่บุญรอด จ.เชียงราย และใช้พื้นที่ 200 ไร่ปลูกชาออร์แกนิก เพื่อป้อนโรงงานดังกล่าว จากพื้นที่ปลูกชารวม 600 ไร่
สำหรับโรงงานดังกล่าวมีกำลังผลิตเบื้องต้น 140 ตัน/ปี จะเริ่มผลิตและวางจำหน่ายต้นปี 2558 และสามารถเพิ่มกำลังผลิตเป็น 200 ตันในสิ้นปีหน้า ซึ่งในระยะยาวจะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก แต่เบื้องต้นจะเริ่มทำตลาดในประเทศก่อน ทั้งช่องทางร้านค้าปลีกทั่วไป และเจาะเข้าช่องทางฟู้ดส์เซอร์วิส ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ร้านชา กาแฟ เบเกอรี่ และเคเทอริ่งชนิดอื่นๆ ที่ใช้ชาเขียวเป็นวัตถุดิบ
ขณะที่ตลาดส่งออกจะเน้นทั้งประเทศที่มารุเซ็นญี่ปุ่นเข้าไปทำตลาดอยู่แล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ฮ่องกง อังกฤษ รวมทั้งการบุกเบิกตลาดในประเทศใหม่ๆ โดยจะใช้เครือข่ายทั้งของมารุเซ็น ญี่ปุ่น เครือบุญรอด และตั้งทีมใหม่ของบริษัทเองเพื่อเปิดตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยวางเป้าหมายยอดขายปีแรก 350 ล้านบาท และเพิ่มเป็นแตะ 1,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี
“ชาเขียวญี่ปุ่นแท้ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เห็นได้จากกระแสร้านอาหารญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และโอกาสจากร้านชา กาแฟ เบเกอรี่ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งเรากล้าบอกได้ว่าเป็นโรงงานชาเขียวแท้ในประเทศไทยรายแรกและรายเดียว และยังเป็นโรงงานแรกของมารุเซ็นนอกประเทศญี่ปุ่น” นายพงษ์รัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังพบว่าตลาดชาเขียวแท้ในไทยยังเล็กและมีโอกาสเติบโตอีกมาก ประมาณการตลาดที่เจาะช่องทางฟู้ดเซอร์วิสมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาทเท่านั้น และมีคู่แข่งประมาณ 10 ราย ในรูปแบบผงและใบชา แต่ส่วนใหญ่นำเข้าเสียภาษีสูงถึง 60%ทำให้บริษัทได้เปรียบจากการมีโรงงานผลิตในไทย คาดว่าราคาจะถูกกว่าสินค้านำเข้าถึง 20% และยังมีแบรนด์มารุเซ็นที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก
ขณะที่ตลาดชาเขียวพร้อมดื่มมูลค่า 1.45 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทจะไม่เข้าไปแข่งขันในตลาดนี้ โดยจะเน้นเฉพาะใบชา ชาซองชงเย็น และชาผงเท่านั้น