แฟชั่นโลกเคลื่อนตัว สู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์
โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล
โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล
ความเคลื่อนไหวในแวดวงอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลกที่มาพร้อมกับปรากฏการณ์ต่อยอดแบรนด์เนมสินค้าแฟชั่น โดยเฉพาะในกลุ่มแบรนด์ระดับเอลิสต์ ที่จะไม่จำกัดวงเฉพาะความเป็นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ของตกแต่งแฟชั่นอีกต่อไป แต่เริ่มขยับขยายแบรนด์ไปสู่ธุรกิจสินค้าไลฟ์สไตล์มากขึ้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเริ่มส่งแรงกระเพื่อมถึงอุตสาห กรรมแฟชั่นท้องถิ่นในแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน
อโนทัย ชลชาติภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกถึงกระแสในอุตสาหกรรมแฟชั่นของโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ กำลังเคลื่อนสู่ยุค “แบรนด์ไลฟ์สไตล์” หลังจากที่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นสั่งสมความศรัทธา หรือความชื่นชอบของกลุ่มลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ไว้มาจนเนิ่นนานแล้ว ซึ่งก็ถึงเวลาที่จะนำ “แบรนด์” นั้นๆ ไปต่อยอดในธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
พร้อมยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในต่างประเทศ อย่างแบรนด์อาร์มานี (Armani) ที่ได้นำแบรนด์ก้าวล่วงดินแดนแห่งแฟชั่นไปสู่ธุรกิจโรงแรม ที่ปัจจุบันมีเชนสาขาให้บริการในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงแบรนด์ไฮเอนด์ระดับโลกอื่นๆ อย่างคริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) เฟอร์รากาโม (Salvatore Ferragamo) เป็นต้น ก็ต่างหันไปขยายธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนมากขึ้น
“การขยับตัวของแบรนด์ใหญ่ๆ เหล่านี้ เป็นเทรนด์ใหญ่ที่ออกมาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่เจ้าของธุรกิจท้องถิ่นในแต่ละประเทศ ซึ่งรวมถึงไทยต้องจับตามองแนวโน้มดังกล่าว เพื่อปรับตัวธุรกิจให้สอดคล้อง” อโนทัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่าเริ่มมีแบรนด์ธุรกิจแฟชั่นในไทย ต่างเริ่มเกี่ยวเทรนด์ดังกล่าวเอามาใช้ทำธุรกิจใหม่ๆ เช่นกัน อย่างเกรฮาวด์ (Greyhound) ที่นอกจากจะเป็นแฟชั่นแบรนด์เก่าแก่ของไทยด้วยมีอายุมากกว่า 30 ปี ที่ปัจจุบันแบรนด์ดังกล่าวยังประสบความสำเร็จในธุรกิจร้านอาหารด้วย
ทั้งนี้ แบรนด์แฟชั่นใหญ่ๆ จะเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ผ่านสินค้า บริการ ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา ถ้าหากแบรนด์นั้นไม่สามารถลงทุนผลิตสินค้าไลน์ใหม่ได้ ก็จะหันไปใช้กลยุทธ์การทำตลาดร่วม หรือคอลลาบอเรชั่น กับแบรนด์ธุรกิจบริการอื่นๆ เพื่อขยายฐานลูกค้าร่วมกัน
ทีนี้กลับมาสู่คำถามที่ว่าเทรนด์อุตสาหกรรมแฟชั่นโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะส่งผลถึงผู้ประกอบการธุรกิจท้องถิ่นอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้ก็คือ ผู้ประกอบการธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีในฝั่งของภาคการผลิตอาจจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับโอกาสทางการตลาดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
จากการขยับตัวของเจ้าของสินค้าแบรนด์ดังเหล่านี้ ที่นอกจากจะแตกไลน์ธุรกิจใหม่แล้ว ขณะเดียวกันก็เริ่มหันไปขยายแบรนด์รองจากแบรนด์แม่ออกมาเพื่อขยายฐานกลุ่มเป้าหมาย พร้อมดำเนินการผลิตสินค้าในรุ่นพิเศษ ที่มีจำนวนจำกัดหรือมีปริมาณการผลิตไม่มากนัก ที่เหมาะสมกับฐานการผลิตสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มของไทย เพื่อปรับชั้นขึ้นไปสู่ฐานการผลิตระดับพรีเมียม ส่วนฐานการผลิตในเวียดนามและจีนจะรองรับการผลิตสินค้าปริมาณมากจากเจ้าของสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมแทน
พร้อมปิดท้ายว่า ในช่วง1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ก็เริ่มมีแบรนด์แฟชั่นไทยหลายแบรนด์หันมาใช้กลยุทธ์คอลลาบอเรชั่นกันมากขึ้น อย่างแบรนด์ ISSUE ที่เริ่มขยายไปสู่ความเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ ด้วยการเข้าไปร่วมทำงานกับโรงแรมแห่งหนึ่งในเกาะสมุย เป็นต้น
ทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างที่เกิดขึ้นและมีแนวโน้มว่ากำลังขยายตัวออกไปอีก ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า แบรนด์สินค้าที่แข็งแกร่ง สามารถก้าวข้ามคำจำกัดความของธุรกิจที่ถือกำเนิดได้ หากมีความพร้อมที่จะต่อยอดไปสู่กิจการใหม่ๆ ในโลกของไลฟ์สไตล์ได้ในอนาคต