posttoday

LINE เป็นได้มากกว่าแอพแชต

15 ธันวาคม 2557

การเข้ามาของกลุ่มธุรกิจแอพพลิเคชั่นชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2555 อย่าง LINE (ไลน์) ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นอันดับ 1 มีผู้ใช้งานกว่า 560 ล้านคน ใน 280 ประเทศทั่วโลก ถือว่าเป็นแอพแชตที่คนมีสมาร์ทโฟนเกือบทุกคนต้องมีใช้งานนั้น ล่าสุดไลน์ต้องการสื่อสารไปยังลูกค้าว่า ไลน์ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นเท่านั้น แต่มุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยเต็มที่และมีการให้บริการถึง 4 รูปแบบแล้ว

การเข้ามาของกลุ่มธุรกิจแอพพลิเคชั่นชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2555 อย่าง LINE (ไลน์) ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นอันดับ 1 มีผู้ใช้งานกว่า 560 ล้านคน ใน 280 ประเทศทั่วโลก ถือว่าเป็นแอพแชตที่คนมีสมาร์ทโฟนเกือบทุกคนต้องมีใช้งานนั้น ล่าสุดไลน์ต้องการสื่อสารไปยังลูกค้าว่า ไลน์ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นเท่านั้น แต่มุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยเต็มที่และมีการให้บริการถึง 4 รูปแบบแล้ว

วารดี วสวานนท์ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า การที่หลายคนมองว่าไลน์เป็นเพียงผู้ให้บริการด้านแอพแชตนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมด ดังนั้นการเปิดสำนักงานที่ไทย เพราะต้องการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการทำธุรกิจอย่างจริงจัง และยังวางแผนธุรกิจใหม่ๆ ที่จะทำในปี 2558 เพิ่มเติม

ปัจจุบันนอกจากแอพพลิเคชั่นไลน์เมสเซจแล้ว บริษัทยังได้ทำแอพที่ครอบคลุมไลฟ์สไตล์และตอบสนองความต้องการของลูกค้าอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นตกแต่งภาพ (B164) อีคอมเมิร์ซ (LINE Shop) แปลภาษา (LINE Dictionary) และดูทีวีย้อนหลัง (LINE TV)

ขณะเดียวกัน ในปีหน้าก็จะมีธุรกิจใหม่ๆ ออกมาให้บริการเพิ่มเติม ซึ่งจะเพิ่มการทำธุรกิจแบบออฟไลน์มากขึ้น เพื่อการเข้าถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้งานออนไลน์ และเป็นการต่อยอดแผนการตลาดรูปแบบใหม่ๆ ได้อีกวิธีหนึ่ง

สำหรับการดำเนินธุรกิจในปี 2557 นี้ ต้องบอกว่าธุรกิจสติ๊กเกอร์ถือว่าเป็นธุรกิจที่โดดเด่นของไลน์ โดยปัจจุบันมีคาแรกเตอร์ใหม่ๆ กว่า 3.2 หมื่นแบบ จากฝีมือนักออกแบบทั่วโลกที่ไม่ได้จำกัดแค่สติ๊กเกอร์แจกฟรีในรูปแบบออฟฟิเชียลเท่านั้น และสร้างรายได้ให้ไลน์ได้ถึงกว่า 1,000 ล้านบาท ทีเดียว

“การเข้ามาเป็นนักออกแบบสติ๊กเกอร์ในไลน์นั้น เติบโตไวมาก ถือว่าเป็นอีกช่องทางในการสร้างรายได้สำหรับคนที่มีไอเดีย เพื่อขายให้แก่ลูกค้าดาวน์โหลดไปใช้งานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งคิดราคาเริ่มต้นที่ 50 คอยน์ (มูลค่าเงินในเหรียญ) เทียบเท่ากับเงินปกติประมาณ 30 บาท สามารถทำยอดขายไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท จากนักออกแบบ 2.7 แสนคน โดยนักออกแบบไทยถือว่าเป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่ทำสติ๊กเกอร์ออกมามากรองจากญี่ปุ่นและไต้หวัน อีกทั้งทำรายได้ดีไม่แพ้คนต่างชาติ เพราะความแปลกใหม่และมีความเป็นไทยผสมไว้ด้วยกัน อย่างเช่น Lovely Pet ของทีมวีอาร์โซ สติ๊กเกอร์ช้างที่ออกแบบโดยสมเด็จพระเทพฯ หรือสติ๊กเกอร์คนอะไรเป็นแฟนหมี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น 1-5 อันดับขายดี” วารดี กล่าว

ทางด้าน LINE Shop ถือว่าเป็นบริการที่เปิดใช้งานในไทยเป็นแห่งแรก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองทำตลาดอีคอมเมิร์ซมาก่อน และผลตอบรับเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยมียอดดาวน์โหลดแอพไปแล้วกว่า 1 ล้านครั้ง และได้เพิ่มฟีเจอร์ Prompt Pay เข้ามาเสริมในเรื่องของการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขายสินค้าที่มาพร้อมโปรโมชั่นเสริมทั้งส่วนลดและค่าจัดส่งมากกว่าการซื้อขายแบบอื่น

วารดี กล่าวว่า การเลือกทำบริการอีคอมเมิร์ซในไทยเป็นรายแรกนั้น เพราะเห็นโอกาสของการเข้ามาพัฒนาดิจิทัลอีโคโนมีของภาครัฐ ประกอบกับคนใช้งานไลน์เยอะ หากเริ่มต้นซื้อขายออนไลน์ผ่านแอพแชตก็จะเป็นการขยายประสบการณ์ใช้งานไปยังเว็บไซต์หรือแอพช็อปออนไลน์อื่นๆ ได้ด้วย โดยทางญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้สาขาในแต่ละประเทศสามารถปรับโมเดลธุรกิจได้ตามความเหมาะสม หากมีบริการใดที่ดึงมาใช้งานร่วมกันได้ ก็จะถูกนำมาใช้งานตามความเหมาะสม

จากความต้องการใช้งานออนไลน์ที่ค่อนข้างเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อรองรับความต้องการบริการต่างๆ จึงต้องเร่งหาทีมงานเพิ่มเติม เพื่อเข้ามาสร้างสรรค์ไอเดียและรองรับบริการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า โดยตั้งเป้าว่าจะมีพนักงานใหม่ให้ถึง 100 คน ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 70-80 คนแล้ว แต่ที่ยังหาได้ไม่ครบ เพราะคนไทยจะติดปัญหาเรื่องภาษาที่สองและสาม

“การตั้งออฟฟิศอย่างเป็นทางการนั้น ทำให้บริษัทต้องเปิดรับทีมงานใหม่แทบจะทุกแผนกเลย ไม่ว่าจะเป็นการตลาด กราฟฟิก ประชาสัมพันธ์ ฝ่ายขาย เพราะทุกส่วนล้วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้บริษัทมีความแข็งแกร่ง บริษัทจะไม่ปิดกั้นไอเดียใหม่ๆ และไม่ต้องกังวลว่าต้องเรียนจบในสายไอทีเท่านั้น เรียนจบมาด้านใดก็ได้ เพียงแค่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษหรือเกาหลี เพื่อให้ประสานงานกับทางฝ่ายต่างๆ ได้ราบรื่น ซึ่งการทำงานสไตล์ไลน์นั้นจะเต็มที่กับทุกเรื่อง” วารดี กล่าวสรุป

ทั้งนี้ ในปีหน้าลูกค้าจะได้เห็นบริการใหม่ๆ ออกมาอีกแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจออฟไลน์ที่เกี่ยวกับคาแรกเตอร์ของไลน์ ธุรกิจทีวีและอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเปิดให้ใช้งานแล้ว แต่จะแถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นรูปแบบการทำงานออนไลน์ที่รองรับไลฟ์สไตล์ของคนทุกกลุ่มอย่างแน่นอน