posttoday

ความยุติธรรมที่มาล่าช้า

17 ธันวาคม 2557

ความยุติธรรมไม่เป็นสิ่งที่จะพึงปฏิเสธหรือผัดผ่อน และความยุติธรรมที่มาล่าช้าเกินไปก็เหมือนไม่ได้รับความยุติธรรม เป็นสุภาษิตกฎหมายที่นักกฎหมายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานของกฎหมาย จะต้องตระหนักและนำไปปฏิบัติให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นในสังคมไทย

ความยุติธรรมไม่เป็นสิ่งที่จะพึงปฏิเสธหรือผัดผ่อน และความยุติธรรมที่มาล่าช้าเกินไปก็เหมือนไม่ได้รับความยุติธรรม เป็นสุภาษิตกฎหมายที่นักกฎหมายหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานของกฎหมาย จะต้องตระหนักและนำไปปฏิบัติให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นในสังคมไทย

กรณีของนักศึกษาหญิงปริญญาโทเมื่อ 13 ปีที่แล้วเป็นตัวอย่างหนึ่งของการได้รับความยุติธรรมที่ล่าช้า ผู้เสียหายรายนี้ถูกลูกจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ข่มขืนบนตู้นอนรถไฟ สายสุไหงโก-ลก - กรุงเทพฯ เมื่อปี 2544 ซึ่งนับว่าเป็นกรณีที่โด่งดังแห่งยุค เดิมเธอได้ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจาก รฟท. กับลูกจ้างซึ่งเป็นผู้กระทำผิดเป็นเงินจำนวนสูงถึง 18 ล้านบาท

โดยก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษาให้ รฟท. และลูกจ้างผู้กระทำผิดจำเลย ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดแก่ผู้เสียหายดังกล่าว เป็นจำนวน 3,077,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปีนับจากวันฟ้อง คือ วันที่ 16 ก.ค. 2545 แต่การรถไฟฯ ได้ยื่นฎีกาขอทุเลาคดี ทำให้การเยียวยาชดเชยล่าช้าออกไป

ในระหว่างการพิจารณาในศาลฎีกา ศาลได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยระหว่างผู้เสียหายและ รฟท. สุดท้ายทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ รฟท.ตกลงยินยอมชำระค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายจำนวน 5,200,000 บาท ศาลฎีกาจึงได้มีคำพิพากษาตามยอม เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2557 ที่ผ่านมาผู้เสียหายใช้เวลาในการต่อสู้คดีเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมทั้งสิ้น 13 ปี 2 เดือน ซึ่งความจริงแล้วการเจรจาไกล่เกลี่ยอาจจะไม่ยุติกันได้โดยง่าย แต่บังเอิญเกิดกรณีเด็กหญิงอายุ 13 ปี ถูกข่มขืนและฆ่าโดยลูกจ้าง รฟท. ซึ่งเป็นเรื่องที่โด่งดังในยุคนี้คล้ายกับคดีของเธอจนเป็นแรงกดดันทางสังคมให้ รฟท. ต้องรีบเจรจาเพื่อยุติคดี

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนอยู่แล้วว่า ลูกจ้างของตนเป็นผู้กระทำผิดจริง รฟท. ในฐานะที่เป็นนายจ้างและเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ และมีหน้าที่ให้บริการสาธารณะของประเทศ ควรที่จะแสดงความรับผิดชอบ ยอมรับผิดในการกระทำของลูกจ้างของตน ด้วยการเจรจาชดใช้ค่าเสียหายที่เหมาะสมให้แก่ผู้เสียหายเพื่อเป็นการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็ว

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ก็ควรจะยอมรับคำตัดสินของศาลชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทันที ไม่ควรยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา เพื่อประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนออกไปอีก

ผู้เสียหายแม้จะได้รับการเยียวยาจาก รฟท.แล้ว แต่เงินจำนวนดังกล่าวไม่สามารถชดเชยกับความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับอย่างแน่นอน นอกจากเธอจะถูกเลิกจ้าง  เพราะนายจ้างเกรงว่าบริษัทที่ผู้เสียหายทำงานจะเสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งที่เรื่องที่เกิดขึ้นผู้เสียหายไม่ได้เป็นผู้ก่อ และเธอเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง เธอยังถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากสังคมรอบข้าง ต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบากแล้วยังต้องย้ายอพยพไปใช้ชีวิตอยู่ยังต่างประเทศ เสียทั้งสุขภาพกายและจิตใจ แม้จะผ่านมากว่า 13 ปี ปัจจุบันนี้ก็ยังต้องนอนหวาดผวาทุกคืน ต้องไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาสภาพร่างกายและจิตใจตลอด ซึ่งก็ไม่รู้ว่าความรู้สึกนี้จะหายไปเมื่อไหร่

จากกรณีตัวอย่างของนักศึกษาหญิงปริญญาโทนี้ คงถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหารของ รฟท. ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการเยียวยาความเสียหายของผู้โดยสารที่ถูกล่วงละเมิดอย่างจริงจังและทันต่อเหตุการณ์ โดยเฉพาะการเยียวยาให้แก่มารดาของเด็กหญิงอายุ 13 ปีเหยื่อที่ถูกลูกจ้าง รฟท.ล่วงละเมิดทางแพทย์และถูกฆ่าบนขบวนรถไฟอีกราย

อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมสาธารณะ  รวมทั้งวางมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารรถไฟอย่างจริงจัง  มิใช่เข้มงวดแต่เฉพาะตอนที่เกิดเหตุใหม่ๆ พอเวลาผ่านไปก็เริ่มชินชาและหละหลวมเหมือนอย่างเคย จนเกิดเหตุร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า