ก้าวสู่การเป็นนักนิเทศศาสตร์
บุคลากรด้านนิเทศศาสตร์ก็ยังเป็นที่ต้องการในวิชาชีพอยู่ เพราะเป็นเรื่องศิลปะการพูดคุยเจรจากับคน ติดต่อกับคนทุกระดับ
บุคลากรด้านนิเทศศาสตร์ก็ยังเป็นที่ต้องการในวิชาชีพอยู่ เพราะเป็นเรื่องศิลปะการพูดคุยเจรจากับคน ติดต่อกับคนทุกระดับ
เรื่อง : รัฐพร คำหอม
วันนี้ขอเขียนอะไรแบบใกล้ตัวมากสักนิด นั่นคือ ผู้คนในแวดวงนักนิเทศศาสตร์ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะตัดสินใจก้าวเข้ามา ที่ไม่รู้ว่าเมื่อเห็นการทำงานของ “นักข่าว” ที่ต้องเผชิญกับสารพัดเรื่องในช่วงของการชุมนุมแล้ว จะยังเป็นเส้นทางที่ฮอตฮิตสำหรับนิสิตนักศึกษาอีกหรือไม่
อย่างไรก็ตาม คำว่านิเทศศาสตร์นั้น ไม่ได้กินความหมายเพียงผู้ประกอบอาชีพนักข่าวเท่านั้น แต่ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 (ราชบัณฑิตยสถาน 2542 : 588) กำหนดความหมายของ “นิเทศศาสตร์” ไว้ว่า คือวิชาว่าด้วยการสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ นั่นหมายความว่า ศาสตร์ด้านนี้มีทั้ง หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ในกลุ่มนี้ถูกจัดเรียกง่ายๆ ว่า นักข่าว แล้วนิเทศศาสตร์ยังมีสาขาการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือกลุ่มที่เรียกว่าพีอาร์อีกด้วย
ดร.วรรณรัตน์ รัตนวรางค์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียว บอกอย่างมั่นใจว่า อย่างไรเสียบุคลากรด้านนิเทศศาสตร์ก็ยังเป็นที่ต้องการในวิชาชีพอยู่ เพราะเป็นเรื่องศิลปะการพูดคุยเจรจากับคน ติดต่อกับคนทุกระดับ หากสื่อสารออกไปไม่เกิดความเข้าใจ ไม่ได้ผล ก็เท่ากับจะเกิดความล้มเหลวของการบรรลุวัตถุประสงค์ นิเทศศาสตร์คือการสอนให้คนรู้จักเรียบเรียงความคิด แล้วถ่ายทอดออกไป
“บางคนบอกว่าพูดไม่เก่งเลย ขี้อาย จะมาเรียนในสาขานี้ได้หรือไม่ เพราะเห็นคนที่ทำงานด้านนี้ ต้องพูดเยอะๆ พูดเก่งๆ กันทั้งนั้น แต่บางครั้งก็ไม่ใช่ทั้งหมดค่ะ เป็นขบวนการฐานของความคิดมากกว่า นอกจากนี้ การรู้หลักนิเทศศาสตร์ก็จะทำให้เกิดการรู้เท่าทัน เพราะปัจจุบันมีสื่อใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกหลายอย่าง ที่กำลังนิยมกันคือสื่อออนไลน์ ที่คนอยากรับสื่อเร็วจะเลือกสื่อนี้ สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าตกเป็นเหยื่อ ดังนั้นสำหรับผู้เรียนก็จะบอกให้รู้ก่อนว่า ถ้าเกิดรู้อะไรมาจะสื่ออย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ และไม่หลงไปกับยุคที่มีสื่อมากมายเช่นนี้” ดร.วรรณรัตน์ เปิดฉากให้สำหรับผู้สนใจเข้าวงการสื่อ
สำหรับคุณสมบัติที่ควรมี ดร.วรรณรัตน์ กล่าวว่า ผู้ที่จะเรียนนิเทศศาสตร์ อย่างแรกต้องรู้จักคิดก่อน ช่างสังเกต เมื่อคิดแล้วก็วิเคราะห์ว่าสิ่งที่เจอนั้นคืออะไร แล้วถามตัวเองว่าเข้าใจเรื่องนั้นๆ จริงหรือเปล่า แล้วค่อยลองวิเคราะห์ดูว่า สิ่งที่เข้าใจนั้นเข้าใจด้วยมุมมองของตัวเราเอง หรือตามมุมมองของคนอื่น
“ในแวดวงข่าว คนที่เป็นสื่อก็ต้องคิดว่า สังคมจะรู้ข่าวอะไร ทำอะไรให้น่าสนใจ หรือค่ายการตลาดการคิดก็ต้องสื่อสารกับผู้บริโภค ด้านการแสดงต้องรู้ว่าคนดูอยากดูอะไร และสร้างให้ตรงความต้องการก่อน นี่คือหลักพื้นฐานคร่าวๆ”
ในฐานะอาจารย์ สิ่งที่ ดร.วรรณรัตน์ พบเห็นกับผู้เรียนสายนิเทศศาสตร์ในปัจจุบัน คือ เด็กไม่ค่อยอยากจะคิด บางทีเพราะอาจกลัวว่าจะผิด กลัวพลาด เลยกลายเป็นรอคำสั่ง จึงไม่มีอะไรที่เป็นความใหม่ออกมา ตรงนี้จะเป็นจุดอ่อนได้ คนที่ก้าวเข้ามาสู่สายนิเทศศาสตร์แล้วต้องเร่งปรับปรุง
อีกประการหนึ่งที่ต้องฝึกทักษะ เพราะความต้องการของตลาดสายงานนี้แม้จะมีมากจริง แต่ก็มีการแข่งขันกัน เทคโนโลยีก็มีมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ตลาดต้องการ คือ คนเก่งจริงๆ ครบเครื่อง เมื่อก่อนคนทำข่าวอาจทำเพียงอย่างเดียว ใช้หลายคนมาผสมผสานกัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้วยิ่งมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และต้องแข่งกันเรื่องเวลานำเสนออีกด้วย กลายเป็นว่าถ้าจะให้เกิดการยอมรับ คนคนหนึ่งต้องทำอะไรได้หลายๆ อย่าง
“ตลาดของอาชีพนิเทศศาสตร์เท่าที่ตามเก็บสถิติ ไม่ได้ลดความต้องการลง แต่เรื่องมากมากขึ้น และนอกจากความรอบรู้รอบตัวแล้ว ต้องดูแลตัวเองให้ได้ด้วย ถ้าเป็นเมื่อก่อน เขียนเก่ง คิดเก่ง แต่ยุคนี้เท่านี้ไม่พอแล้ว” เฮ้อ..เป็นเสียงของเราเองที่แอบถอนใจ ทักษะเป็นเรื่องที่ฝึกฝนกันได้ไม่รู้จบจริงๆ
สำหรับเรื่องจริยธรรมนั้น ดร.วรรณรัตน์ ให้ความเห็นว่า บางทีคนเรามีทางเลือกปฏิบัติหลายทาง แบบหนึ่งอาจจะดีสำหรับกลุ่มหนึ่งแต่ไม่เหมาะกับอีกกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นง่ายๆ สำหรับคำว่าจริยธรรมคือ ต้องไม่สร้างความลำบาก ไม่เดือดร้อน ไม่เกิดเป็นผลกระทบ แต่ถ้าอะไรที่ต้องทำก็ต้องทำ จริยธรรมเป็นเรื่องของดุลยพินิจ ทุกอย่างนั้นมีทางเลือกเสมอ และแม้บางอย่างไม่ได้มีกฎหมายกำหนด ถูกหรือไม่ถูกอยู่ที่มุมมอง ไม่ได้อยู่ที่คนตัดสิน
ส่วนคุณสมบัติอื่นๆ ที่ควรจะมีอีก เช่น การเข้าใจในวัฒนธรรม มีความอดทน และความเสียสละ
เมื่อได้รับทราบข้อมูลอย่างนี้แล้ว ยังสนใจเข้ามาเป็นน้องใหม่กันอยู่ใช่มั้ย บรรทัดสุดท้ายนี้ต้องบอกว่า ...ยินดีต้อนรับ