สถาปนิกพร้อมรับเออีซี หวังรัฐหนุนลุยงาน ตปท.
การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะเกิดขึ้นปลายปี 2558 ทำให้ภาคธุรกิจต่างเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับกำลังซื้อและการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีที่จะเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นอีกทางหนึ่ง หลังจากก่อนหน้าเผชิญกับปัจจัยลบจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ฉุดให้กำลังซื้อซบเซา ภาคสถาปนิกถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้มีการปรับตัวมานาน แต่ยังต้องการแรงหนุนจากรัฐบาลเพื่อช่วยกระตุ้นให้เติบโต
การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะเกิดขึ้นปลายปี 2558 ทำให้ภาคธุรกิจต่างเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับกำลังซื้อและการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีที่จะเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นอีกทางหนึ่ง หลังจากก่อนหน้าเผชิญกับปัจจัยลบจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ฉุดให้กำลังซื้อซบเซา ภาคสถาปนิกถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้มีการปรับตัวมานาน แต่ยังต้องการแรงหนุนจากรัฐบาลเพื่อช่วยกระตุ้น
ให้เติบโต
พิชัย วงศ์ไวศยวรรณ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สถาปนิกไทยเตรียมตัวรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจมานานหลายปีแล้ว จากเมื่อกว่า 40 ปีก่อนได้มีการออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 (ปว.281) ที่กำหนดให้วิชาชีพนี้เป็นอาชีพสงวนเฉพาะคนไทยจึงห้ามต่างชาติเข้ามารับงาน แต่ผลจากการเปิดเออีซีจะทำให้สถาปนิกต่างชาติ โดยเฉพาะใน 9 ประเทศในอาเซียนสามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยได้ และสถาปนิกไทยก็สามารถออกไปรับงานต่างชาติได้จะยิ่งทำให้งานออกแบบทางด้านสถาปนิกในแถบอาเซียนขยายตัวมากขึ้น
“การเปิดเออีซีถือว่าเป็นผลดีต่อวิชาชีพนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากการออกไปรับงานต่างประเทศในกลุ่มอาเซียนนั้นจะดำเนินการได้อย่างสะดวกมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
โดยเฉพาะพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นประเทศที่น่าสนใจในการเข้าไปลงทุน งานก่อสร้างใหม่ๆ เชื่อว่าจะออกมามากขึ้น” พิชัย กล่าว
ที่ผ่านมาสถาปนิกไทยส่วนใหญ่หากจะออกไปลงทุนต่างประเทศจะเป็นผู้ที่ไปลงทุนเอง โดยแทบไม่มีการสนับสนุนการออกไปลงทุนจากภาครัฐบาลไทยเลย ซึ่งหากรัฐมีการออกมาตรการและแนวทางการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสถาปนิกไทยหรือมีอินเซนทีฟ หากออกไปรับงานออกแบบข้ามชาติจะเป็นแนวทางที่ดีอย่างมาก เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ และยังเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศจากการเก็บภาษีได้อีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันวิชาชีพสถาปนิกจากไทย สิงคโปร์ และมาเลเซียนั้นถือว่ามีศักยภาพสูงใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่สถาปนิกไทยยังเป็นปัญหาคือทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ รวมไปถึงภาษาที่สามยังเสียเปรียบคู่แข่ง 2 ประเทศนี้อย่างมาก โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กการออกไปแข่งรับงานต่างประเทศจึงมีมากกว่าหลายประเทศในอาเซียนด้วยกัน
ชนะ สัมพลัง ประธานจัดงานสถาปนิก’58 กล่าวว่า ประเทศไทยและอาเซียนกำลังเปลี่ยนไปการเปิดเออีซีจะเป็นตัวผลักดันให้เห็นการเปลี่ยน แปลงทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมสถาปนิกได้พยายามการจัดงานเป็นที่รู้จักในกลุ่มสถาปนิก มัณฑนากร และเป็นเวทีระดับโลกที่จะกำหนดเทรนด์ทางด้านงานออกแบบ เหมือนกับ เวทีงานมิลลานแฟร์ ประเทศอิตาลี
ชาตรี มรรคา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า งานสถาปนิก’58 ในปีนี้จัดในแนวคิด “ASA NEXT ตัวตน คนไทย” โดยใช้พื้นที่จัดงาน 7.5 หมื่นตารางเมตร บริเวณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพค 1-3 เมืองทองธานี ถือเป็นงานใหญ่ระดับภูมิภาคเอเชีย ที่มีผู้ร่วมงานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบตกแต่งร่วมงานประมาณ 700 ราย โดยเป็นกลุ่มธุรกิจจากต่างชาติเข้ามา ร่วมงานประมาณ 200 ราย 40% เป็นกลุ่มธุรกิจจากจีน ที่เหลือเป็นบริษัทในอาเซียน ซึ่งงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 เม.ย.-3 พ.ค. 2558 ปัจจุบัน มีผู้จองพื้นที่แล้ว 80% คาดว่าจะมีผู้เดินในงาน 3.65 แสนคน
แสดงให้เห็นว่าจำนวนธุรกิจต่างชาติที่สนใจเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการเปิดเออีซี ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่มากนักที่จะให้สถาปนิกไทยปรับตัวรับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นหลังเปิดเออีซี