มารู้จัก‘นาโนไฟแนนซ์’
ช่วงนี้หลายคนคงสงสัยว่า “ไมโครไฟแนนซ์” กับ “นาโนไฟแนนซ์” แตกต่างกันอย่างไร
โดย...ชัตน์วรี
ช่วงนี้หลายคนคงสงสัยว่า “ไมโครไฟแนนซ์” กับ “นาโนไฟแนนซ์” แตกต่างกันอย่างไร ย้อนไปก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามผลักดัน “ไมโครไฟแนนซ์” ผ่านธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เพื่อปล่อยเงินกู้ให้กับรายย่อย แก้ไขปัญหาการกู้เงินนอกระบบ แต่ที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะการปล่อยกู้ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ก็ยังคงมีเกณฑ์การปล่อยกู้ที่เข้มงวด เช่น ต้องมีบุคคล หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีรายได้ที่แน่อน มีข้อมูลทางการเงิน (สเตทเมนต์) จึงทำให้รายย่อยยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และยังหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ
ดังนั้น รัฐบาลจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบจาก “ไมโครไฟแนซ์” มาเป็น “นาโนไฟแนนซ์” โดย ธปท.อนุญาตให้ภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือสถาบันการเงิน กำหนดให้มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และได้จดทะเบียนกับ ธปท.จนเป็นนิติบุคคลประเภทใหม่ในระบบสถาบันการเงินไทย สามารถปล่อยกู้ให้ประชาชนทั่วไปจำนวนไม่เกิน 1 แสนบาท/ราย ที่อัตราดอกเบี้ยรวมค่าปรับและค่าธรรมเนียมไม่เกิน 36% ต่อปี หรือเดือนละ 3% (สูงกว่าสินเชื่อบุคคลที่ดอกเบี้ย 28% และดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบอาจสูงถึง 60-120%)
นอกจากนี้ ยังมีการผ่อนปรนคุณสมบัติของผู้กู้เงิน โดยผู้กู้จะมีหรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ได้ รวมทั้งอาจจะไม่มีรายได้ที่ชัดเจนก็ได้ ติดเครดิตบูโรก็ไม่มีปัญหา รวมทั้งลดขั้นตอนให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับคุณลักษณะของกลุ่มลูกหนี้ เพื่อนำเงินกู้นี้ไปเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ไม่ใช่กู้เพื่อไปใช้จ่าย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้แจ้งว่า ขณะนี้ผู้สนใจสอบถามการยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ทั้งสิ้น 70 ราย แต่มีผู้ยื่นใบสมัครไว้ 16 ราย ซึ่งได้อนุมัติใบอนุญาตแล้ว 3 ราย คือบริษัท เงินสดทันใจ บริษัท ไทยเอซ แคปปิตอล และบริษัท แมคคาเล กรุ๊พ โดยคาดว่าจะเริ่มปล่อยกู้ได้ในเดือน เม.ย.นี้
นาโนไฟแนนซ์เป็นหนึ่งทางเลือกการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่เป็นเพียงการเริ่มต้นนับหนึ่งเท่านั้น ก็ต้องรอลุ้นต่อไปว่านาโนไฟแนนซ์ จะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยเอสเอ็มอีให้หลุดจากวังวนเจ้าหนี้นอกระบบหนี้ไม่นั้นต้องรอดูกันต่อไป