สินเชื่อโครงการ
....กำพล สุทธิพิเชษฐ์
สินเชื่อโครงการ (Project Finance) หมายถึง การให้การสนับสนุนทางการเงินที่การพิจารณาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการค้ำประกันทางการเงินจากเจ้าของโครงการ (Sponsor’s Support) หรือมูลค่าของสินทรัพย์รวมของโครงการ (AssetBased Finance) เป็นหลัก แต่การพิจารณาจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของโครงการ ซึ่งหมายถึง จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดในเรื่องของความเป็นไปได้ของโครงการ
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสินเชื่อโครงการจะเป็นการสนับสนุนทางการเงินที่ผู้ให้กู้พิจารณาประมาณการกระแสเงินสด (Cash Flow) ของโครงการเป็นหลัก ซึ่งกระแสเงินสดนี้จะชี้ให้เห็นความสามารถในการชำระหนี้คืนของโครงการ ดังนั้นการกำหนดลำดับขั้นของการดำเนินงานของโครงการตั้งแต่ต้นจนบรรลุผลในแต่ละช่วง จึงเป็นขั้นตอนหนึ่งของการบริหารงานเพื่อให้มีการใช้วัตถุดิบ เครื่องจักร เงินทุน และแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ งบประมาณ แหล่งที่ตั้งของโครงการ การลงทุน ผลตอบแทน ระยะเวลาของโครงการ วิธีดำเนินการ และผู้รับผิดชอบดำเนินการต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน รวมถึงการพิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
โดยทั่วไปโครงการที่ได้รับการสนับสนุนในลักษณะของสินเชื่อโครงการ จะเป็นโครงการที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูง ระยะเวลาคืนทุนยาว เช่น โครงการโรงผลิตไฟฟ้า โครงการโรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่างสินเชื่อโครงการกับสินเชื่อทั่วไป ก็คือ
1.ปัจจัยทางด้านเทคนิคของโครงการจะมีความซับซ้อนทางเทคนิคสูง และความเสี่ยงด้านความสำเร็จของโครงการ (Completion Risk) สูง ซึ่งทำให้ต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่โครงการจะแล้วเสร็จเป็นสำคัญ
2.ปัจจัยความเป็นไปได้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยส่วนใหญ่แล้วมูลค่าสินทรัพย์ของโครงการจะมีมูลค่าน้อยกว่าเงินกู้ยืม ซึ่งจะทำให้ในส่วนของหลักประกันนั้น นอกเหนือจากการจำนองสินทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรแล้ว ในสินเชื่อโครงการจะมีหลักประกันประเภท การโอนสิทธิต่างๆ เข้ามาเพิ่ม เช่น การโอนสิทธิการรับเงินของโครงการ เป็นต้น
เนื่องจากสินเชื่อโครงการส่วนใหญ่จะใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และที่สำคัญโครงการอาจไม่มีหลักประกันประเภทสินทรัพย์ถาวรที่สามารถขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ได้ทั้งหมด ดังนั้นเพื่อกระจายความเสี่ยงของผู้ให้กู้ การสนับสนุนโครงการจึงมักจะประกอบด้วยผู้ให้กู้หลายรายร่วมกัน หรือเรียกว่าการให้กู้ร่วม (Syndication)
โดยทั่วไปแล้วเมื่อมีการลงทุนในโครงการมักจะมีการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นของโครงการ โดยทางผู้ลงทุนหรือเจ้าของโครงการจะว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งมีประสบการณ์และความชำนาญในโครงการลักษณะเดียวกัน ให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้และสรุปข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ รวบรวมไว้ในรูปของ Information Memorandum ซึ่งจะประกอบไปด้วย สรุปรายละเอียดของโครงการ ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น ผู้ลงทุน ผู้รับเหมาก่อสร้าง การวิเคราะห์ทางการเงิน เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำเสนอต่อสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อใช้ในการจัดหาแหล่งเงินกู้ของโครงการ เนื่องจากผู้ให้การสนับสนุนสินเชื่อโครงการต้องรับความเสี่ยงตลอดอายุโครงการ ดังนั้นการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจึงมีนัยสำคัญต่อกระบวนการตัดสินใจอย่างมาก ความเสี่ยงในด้านต่างๆ ต้องได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งสามารถแบ่งความเสี่ยงของโครงการเป็น 4 ประเภทหลักได้ ดังนี้
ด้านผู้ลงทุนต้องพิจารณาผู้ร่วมลงทุน (Sponsor) แต่ละรายว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ผู้ลงทุนจะต้องมีฐานะทางการเงินและสภาพคล่องทางการเงินดี ในกรณีที่โครงการประสบปัญหามูลค่าการลงทุนสูงกว่าที่ประมาณการไว้ (Cost Overrun) หรือกระแสเงินสดไม่เพียงพอ (Cash Deficiency) ผู้ร่วมลงทุนจะต้องเข้ามาสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการต่อไปได้
ด้านเทคนิคหลักๆ คือด้านการผลิต สิ่งที่ต้องดูคือ ทำเลที่ตั้งว่าใกล้แหล่งวัตถุดิบไหม ใกล้แหล่งจำหน่ายไหม ดูความเหมาะสมของเทคโนโลยี ดูความน่าเชื่อถือของผู้รับเหมาโครงการ เช่น เคยมีผลงานและประสบการณ์ในโครงการประเภทเดียวกันหรือไม่ ฐานะการเงินเป็นอย่างไร มูลค่าของสัญญาที่มีการกำหนดแน่นอนตลอดอายุสัญญา เงื่อนไขการชำระเงิน ขั้นตอนการดำเนินงานและกำหนดเวลางานแล้วเสร็จ การประกันภัยระหว่างก่อสร้าง ค่าปรับงานล่าช้า การค้ำประกันผลงานโดยมีหนังสือค้ำประกันสัญญาและผลงานจากสถาบันการเงิน การจัดหาวัตถุดิบ เป็นต้น และสุดท้ายต้องไม่ลืมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนะครับ
ด้านการตลาด ดูตัวผลิตภัณฑ์ว่าต้นทุนเป็นอย่างไร แข่งขันได้ไหม แนวโน้มสินค้าทดแทนเป็นอย่างไร ภาวะความต้องการและปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่เราผลิต ราคาตลาดของผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องดูถึงความเป็นมาและการเคลื่อนไหวของราคาตลาดของผลิตภัณฑ์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตลอดจนปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้สามารถพยากรณ์แนวโน้มของราคาในอนาคต เพื่อนำมากำหนดราคาผลิตภัณฑ์ของโครงการที่จะเข้าสู่ตลาด สุดท้ายคือช่องทางและแผนการจัดจำหน่าย โครงการจะมีความเป็นไปได้ทางด้านการตลาดสูง ถ้ามีช่องทางการจัดจำหน่ายที่แน่นอน เช่น โครงการโรงไฟฟ้า ก็จะมีสัญญาซื้อขายระยะยาวไว้แล้ว เป็นต้น เรียกว่า มีคนซื้อแน่ๆ ขอให้ผลิตให้ได้เถอะ
ด้านการเงิน เนื่องจากสินเชื่อโครงการส่วนใหญ่จะมีระยะเวลากู้ยาวดังนั้นโครงการจึงมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเงิน ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ โดยหลักๆ ก็คือ เรื่องอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเครื่องจักรและอุปกรณ์โดยส่วนใหญ่ต้องนำเข้า ซึ่งต้องมีการชำระเป็นเงินสกุลต่างประเทศ
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนใหญ่จะกำหนดเป็นแบบลอยตัว โดยมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงินที่ให้กู้ โครงการสามารถลดความเสี่ยงโดยการทำสัญญาแลกเปลี่ยนดอกเบี้ย (Interest Rate Swap) กับสถาบันการเงิน โดยทำการแลกเปลี่ยนภาระดอกเบี้ยจากอัตราลอยตัวเป็นอัตราคงที่ แต่ต้องจ่ายค่าป้องกันความเสี่ยง (Swap Premium) ด้วยนะครับ และทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) หรือทำสัญญาแลกเปลี่ยนสกุลเงินกู้ (Currency Swap) เพื่อลดความเสี่ยง
พิจารณากันซะละเอียดถี่ถ้วนขนาดนี้ ดูกันทุกซอกทุกมุม จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมสินเชื่อโครงการสถาบันการเงินถึงใช้ระยะเวลาในการวิเคราะห์และตัดสินใจนานกว่าสินเชื่อทั่วๆ ไป พบกันใหม่เดือนหน้าครับ