posttoday

แก่แล้วยังไง?

22 เมษายน 2558

โดย...เกษมสันต์ วีระกุล

โดย...เกษมสันต์ วีระกุล

ในที่สุดเศรษฐกิจไทยก็กำลังเดินเข้าสู่มุมอับ ก็ได้แต่ให้กำลังใจรัฐบาลแก้ปัญหาต่อไป ทั้งที่ในใจกลุ้มใจอย่างมาก เพราะยังไม่เห็นว่าทีมเศรษฐกิจจะเดือดเนื้อร้อนใจและมีมาตรการอะไรโดนๆ ออกมาเสียที
ผมขอฝากระเบิดเวลาลูกใหญ่ไว้ให้ท่านผู้อ่านได้รู้เพื่อเตรียมตัวก่อน ระเบิดเวลาลูกที่ว่าคือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ซึ่งจะเป็นปัญหาที่แก้ยากที่สุดในอนาคตของประเทศ

สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือการมีคนอายุมากกว่า 65 ปี มากกว่า 7% มาเป็นสิบปีแล้ว และในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด มีคนอายุเกิน 65 ปี มากกว่า 20% และเมื่อถึงปี 2593 ไทยเราจะมีคนอายุเกิน 65 ปี ถึง 32% ใกล้เคียงกับเวียดนามที่จะมี 31% ส่วนสิงคโปร์สัดส่วนจะสูงถึง 38% ขณะญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นประเทศที่มีคนสูงอายุมากที่สุดในโลก จะมีสัดส่วนสูงถึง 42%

มาลองดูผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยทั่วไปคนอายุเกิน 65 ปี จะออกจากตลาดแรงงานขณะที่คนอายุถึง 15 ปี ก็จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในปี 2556 ไทยมีคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน 6.2 แสนคน แต่กลับมีคนออกจากตลาดแรงงาน 9 แสนคน แปลว่าแรงงานหายไปเกือบ 3 แสนคน ตัวเลขแรงงานที่หายไปนี้จะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากนี้เป็นต้นไป

แรงงานหายไปแปลว่าคนจะช่วยสร้างผลผลิตสร้างจีดีพีจะมีน้อยลง คนมีรายได้และสามารถเสียภาษีก็จะมีน้อยลง และจะน้อยลงจนน่าตกใจ ในปี 2550 ไทยเรามีวัยแรงงานทำงานเสียภาษี 6 คน เพื่อให้รัฐเอาภาษีไปดูแลคนสูงอายุ 1 คน แต่ในปี 2570 ไทยจะมีวัยแรงงานทำงานเสียภาษีเหลือแค่ 3 คนต่อคนสูงอายุ 1 คน คนเราพอสูงอายุสุขภาพร่างกายก็ไม่แข็งแรง โรคภัยรุมเร้า รัฐบาลจะต้องมีภาระดูแลมากยิ่งขึ้นแต่จำนวนคนที่จะสามารถเสียภาษีได้กลับมีน้อยลง นึกแล้วน่าตกใจแทนลูกหลานเราที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นมหาศาล

นอกจากนี้ คนสูงอายุจะเป็นผู้บริโภคที่ไม่ค่อยจับจ่ายใช้สอย นอกจากจะเป็นเพราะสุขภาพไม่เอื้อให้กินดื่มเที่ยวและแต่งตัวแล้ว ความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพก็จะทำให้คนสูงอายุไม่กล้าใช้จ่ายอีกด้วย ดูจากญี่ปุ่นสิครับ รัฐบาลพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นการบริโภค แต่คนญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยบริโภคเพราะสังคมมีแต่คนสูงอายุ เศรษฐกิจเลยไม่โตเสียที สุดท้ายต้องปล่อยให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวโดยไม่ต้องขอวีซ่า เพราะหวังพึ่งรายได้ท่องเที่ยวมากระตุ้นเศรษฐกิจ

คงต้องเขียนต่อเป็นซีรี่ส์ยาวๆ สำหรับเรื่องผู้สูงอายุ เพราะผมตั้งความหวังไว้อย่างมากว่ารัฐบาลนี้น่าจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายกว่ารัฐบาลชุดไหนๆ ก็ท่านๆ กำลังอยู่ในวัยที่ควรจะเข้าใจเรื่องนี้พอดี โชคดีเหลือเกิน