เปิดเช่าที่ราคาถูก บูมนิคมอุตสาหกรรมชายแดน
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเหยียบคันเร่งเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนอย่างเต็มที่
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเหยียบคันเร่งเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนอย่างเต็มที่ โดยในวันที่ 29 พ.ค. 2558 ได้มีการประชุมทีมเศรษฐกิจ ซึ่งมีทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมประชุม เพื่อติดตามความคืบหน้าการลงทุนของภาคเอกชนในเขตเศรษฐกิจพิเศษและการส่งเสริมการลงทุน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เปิดเผยว่า การประชุมมีผลสรุปที่ชัดเจนมากขึ้นในหลายประเด็น ได้แก่ 1.ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประกาศไว้ หากมีผู้ต้องการจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ บริษัทเหล่านี้จะเสียภาษีเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราปกติ
2.สำหรับภาคเอกชนที่ต้องการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรม สามารถยื่นขอสิทธิพิเศษจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อไม่ต้องเสียภาษีในระยะเวลา 5 ปี 8 ปี หรือ 10 ปี แล้วแต่ประเภทของธุรกิจ
3.มีข้อสรุปเกี่ยวกับอัตราค่าเช่าที่ดินของกรมธนารักษ์ ที่จะเปิดให้เอกชนเช่าสำหรับการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกทั้ง 6 พื้นที่แล้ว โดยจะออกประกาศในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นเอกชนที่สนใจสามารถยื่นจองเพื่อขอเช่าได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมของจังหวัดนั้นๆ จากนั้นจะส่งเข้ามาให้ส่วนกลางอนุมัติต่อไป
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ชี้แจงว่า ราคาค่าเช่าที่ดินในเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน แต่จะถูกกว่าราคาที่ดินเอกชนอย่างแน่นอน เนื่องจากขณะนี้มีการเก็งกำไรที่ดินจำนวนมาก ทำให้ที่ดินราคาสูงจนเป็นอุปสรรคในการลงทุน โดยราคาที่ดินที่จะประกาศนั้น อ.สะเดา จ.สงขลา จะมีราคาสูงสุด ราคาที่ดินเปล่าอยู่ที่ 4 หมื่นบาท/ไร่/ปี ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาวางโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคพร้อมแล้ว 2.2 แสนบาท/ไร่/ปี
ที่ดินในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ดินเปล่าค่าเช่า 3.6 หมื่นบาท/ไร่/ปี ที่ดินนิคมฯ 1.6 แสนบาท/ไร่/ปี ที่ดินในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ราคาค่าเช่าที่ดินเปล่า 3.2 หมื่นบาท/ไร่/ปี ที่ดินในนิคมฯ 1.6 แสนบาท/ไร่/ปี ที่ดินในพื้นที่ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ที่ดินเปล่า 2.4 หมื่นบาท/ไร่/ปี ที่ดินในนิคมฯ 1.25 แสนบาท/ไร่/ปี
ส่วนที่ดินในพื้นที่ จ.หนองคาย จะเปิดให้เช่าเฉพาะที่ดินเปล่า ราคาค่าเช่าที่ 2.4 หมื่นบาท/ไร่/ปี เนื่องจากที่ดินในนิคมฯ นั้น ได้ให้เอกชนเป็นผู้พัฒนาและกำหนดราคาค่าเช่าไปแล้ว
“เป้าหมายของเราคือ ถ้าเป็นรายใหญ่จะเป็นการเช่าที่ดินเปล่าแล้วมาพัฒนาวางระบบสาธารณูปโภคและตั้งโรงงานเอง ส่วนรายเล็กๆ จะเป็นการเข้าไปเช่าในที่นิคมฯ โดยเชื่อว่าที่ดินที่ราชพัสดุที่เตรียมไว้จะเพียงพอต่อการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ทั้งนี้ สำหรับที่ดินที่จะนำให้เอกชนเช่านั้นเดิมเป็นที่ดินของรัฐ เช่น ที่ป่าเสื่อมโทรม ที่สาธารณสมบัติ รัฐบาลจัดหามาโดยหน่วยงานของรัฐ รวม 8,483 ไร่ แยกเป็นอ.แม่สอด จ.ตาก 2,196 ไร่เศษ ที่ดินใน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 1,827 ไร่เศษ ที่ดินใน อ.เมือง จ.มุกดาหาร 2,146 ไร่เศษ ที่ดินใน อ.คลองใหญ่ จ.ตราด 888 ไร่เศษ และที่ดินใน อ.สระใคร จ.หนองคาย 716 ไร่เศษ
ขณะนี้มีเอกชนสนใจที่จะลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอแล้ว 6 ราย เป็นการผลิตลวด แปรรูปสินค้าเกษตร ผลิตชั้นวางสินค้าพลาสติก เฟอร์นิเจอร์ไม้และเหล็กที่ จ.ตาก และ จ.สระแก้ว กิจการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่ จ.สระแก้ว และ จ.มุกดาหาร
หลายคนสงสัยว่าถ้าจะยื่นขอลงทุนและเช่าที่ดินจะทำอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงว่า เอกชนที่สนใจลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม โดยจะใช้เวลาประสานหน่วยงานกับส่วนที่เกี่ยวข้อง 7 วัน ก็จะได้คำตอบว่าจะต้องขออนุญาตด้านใดบ้าง ใช้เวลานานเท่าใด โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจะเดินเรื่องติดต่อประสานหน่วยงานต่างๆ ให้ทั้งหมด
ปลุกปั้นกันขนาดนี้ การบูมเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นประตูการลงทุนจะพลิกโฉมหน้าไทยได้แค่ไหนต้องติดตาม...