posttoday

รู้จักความเสี่ยง ตราสารหนี้ ก่อนเลือกลงทุน (ต่อ)

25 มิถุนายน 2558

เราคุยกันถึงความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้ไปหลายความเสี่ยงแล้วนะครับ มาทวนกันนิดก่อนไปความเสี่ยงต่อไปนะครับ เริ่มจาก

เราคุยกันถึงความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้ไปหลายความเสี่ยงแล้วนะครับ มาทวนกันนิดก่อนไปความเสี่ยงต่อไปนะครับ เริ่มจาก

1.ความเสี่ยงด้านเครดิต (Default Risk หรือ Credit Risk) คือ ความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารหนี้จะเบี้ยวหนี้ คือ ผิดนัดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นให้กับเจ้าหนี้ (ผู้ลงทุน)

2.ความเสี่ยงด้านราคา (Price Risk หรือ Interest Rate Risk หรือ Market Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลให้ราคาตราสารหนี้มีการเปลี่ยนแปลงหรือมีความผันผวนด้วย ราคาของตราสารหนี้มักจะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด

3.ความเสี่ยงจากการลงทุนต่อ (Reinvestment Risk) คือ ความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนไม่สามารถนำดอกเบี้ยที่ได้รับจากตราสารหนี้ไปลงทุนต่อ ภายใต้อัตราผลตอบแทนระดับเดิมที่เคยได้รับ

4.ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ครับ เป็นความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนไม่สามารถขายตราสารหนี้ในจังหวะเวลาที่ต้องการและในราคาที่เหมาะสมได้

มาวันนี้เรามาคุยกันถึง ความเสี่ยงอันดับที่ 5 คือ ความเสี่ยงจากสิทธิแฝงในตราสารหนี้ (Option-embedded Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากสิทธิแฝงต่างๆ ในตราสารหนี้นั้น เช่น หุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารต่างๆ ที่ออกมา มักจะมีสิทธิที่แฝงมาด้วย เช่น ให้สิทธิธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารหนี้ได้ก่อนตราสารหนี้นั้นครบอายุ การให้สิทธิในการเรียกคืน (ไถ่ถอน) ตราสารหนี้ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถคาดการณ์กระแสเงินสดที่จะได้รับได้อย่างแน่นอน เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าว่าธนาคารจะไถ่ถอนตราสารหนี้เมื่อใด

โดยทั่วไปคนออกตราสารหนี้แบบนี้มักจะไถ่ถอนตราสารหนี้เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาด ลดลงจนต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่ระบุไว้ เพราะผู้ออกตราสารหนี้จะได้ลดภาระดอกเบี้ยที่สูง แต่คนที่โชคร้ายก็คือคนที่ซื้อตราสารประเภทนี้ เพราะแทนที่จะได้กินดอกเบี้ยสูงๆ ต่อไป ก็อดเพราะคนออกดันไถ่ถอนตราสารหนี้ ทำให้คนลงทุนมีความเสี่ยงจากการนำเงินที่ได้รับคืนกลับมาไปลงทุนใหม่ เพราะจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าเดิม

ความเสี่ยงอันดับที่ 6 คือ ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งจ่ายกระแสเงินสดเป็นสกุลเงิน ตราต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ลงทุนที่ถือครองตราสารหนี้ดังกล่าวไม่สามารถคาดการณ์กระแสเงินสด ที่จะได้รับในอนาคตเป็นสกุลเงินตราท้องถิ่นได้อย่างแน่นอน เนื่องจากกระแสเงินสดดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น

ตัวอย่างนี้คงเห็นได้ชัดจากกองทุนต่างประเทศในอดีตกองหนึ่งที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ออสเตรเลียและไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ ทำให้กองทุนมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน แม้กองทุนยังได้รับดอกเบี้ยจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลออสเตรเลียครบถ้วน แต่เมื่อคำนวณกลับมาเป็นเงินบาทไทยแล้ว พบว่า NAV ของกองทุนลดลงจากการตีราคาสินทรัพย์ในราคาตลาด (Mark to Market)

นอกจากความเสี่ยงต่างๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับตราสารหนี้อื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น ความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อหรืออำนาจซื้อ (Inflation Risk หรือ Purchasing Power Risk) ความเสี่ยงจากผลกระทบของเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิด (Event Risk) ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้ (Legal Risk) ความเสี่ยงจากการลงทุนโดยขาดความรู้เกี่ยวกับตราสารหนี้ (Black-box Risk) ซึ่งเราควรจะต้องศึกษาให้ดีก่อนลงทุน อย่าลืมคำเตือนของ ก.ล.ต. ที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” เป็นคาถาที่ดีสำหรับการลงทุนและใช้ได้กับทุกการลงทุน ไม่ใช่เฉพาะกับกองทุนรวมเท่านั้น