posttoday

อุตฯแปรรูปสัตว์น้ำหันนำเข้าจากเพื่อนบ้านหลังเรือประมงหยุด

01 กรกฎาคม 2558

อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำหลายจังหวัดเริ่มนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ หลังเรือประมงหยุดจับสัตว์น้ำ

อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำหลายจังหวัดเริ่มนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ หลังเรือประมงหยุดจับสัตว์น้ำ

นายวิถี  สุพิทักษ์   ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ เปิดเผยว่า  ทางสภาอุตสาหกรรมภาคใต้  ได้ติดตามปัญหาประมงอย่างต่อเนื่อง  โดยประสานข้อมูลกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัด นำเสนอข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหา หากมีปัญหาเกิดขาดแคลนสัตว์น้ำขึ้นมา เพื่อนำเสนอต่อสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  แล้วนำเสนอต่อรัฐบาล แก้ไขบรรเทาความเดอืดร้อน

“เรามองภาพรวม ต้องยอมรับในการปรับปรุง และขณะเดียวกันก็ต้องหาแนวแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ”นายวิถีกล่าว 

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมง เปิดเผยว่า  หากเรือประมงหยุดทำการจับสัตว์น้ำ  จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ฯลฯ  แต่มีผู้ประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำส่วนหนึ่งได้มีมาตรการรองรับและปรับตัวไว้รองรับ คือการนำเข้าสัตว์น้ำ ปลา กุ้ง หอย ปู มาจากประเทศเวียดนาม และประเทศอินโดนีเซีย พม่า เป็นวัตถุดิบนำมาแปรรูป เช่น  ผู้ประกอบการ จ. ระนอง ชุมพร และ จ.นครศรีธรรมราช

“แต่การนำเข้าสัตว์น้ำ จะมีต้นทุนที่สูงกว่าจับสัตว์น้ำเอง และเรื่องคุณภาพก็ต่ำกว่า สำหรับการประมงของประเทศไทยยังเด่นกว่าประเทศอื่น ๆ”นายวิถีกล่าว

ด้าน นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย  เปิดเผยว่า   ถึงแนวทางการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อปลดล๊อคการให้ใบแดงของอียู ว่า หากเป็นไปได้ต้องการเสนอให้รัฐบาลประกาศหยุดเรือประมงอวนลาก อวนรุน  และเรือปั่นไฟ ซึ่งเป็นการทำประมงแบบทำลายล้างทรัพยากรทางทะเล เหมือนกับประเทศอินโดนีเซีย  ที่ได้ออกกฎหมายกเลิกเรืออวนลาก ไปแล้ว แต่ในประเทศไทย พบว่ามีเรือประมงผิดกฎหมายโดยเฉพาะเรืออวนลาก  เพิ่มขึ้นถึง 16,000 ลำ จากเดิมที่มีอยู่เพียง 4,700 ลำ ซึ่งเป็นการลักลอบสวมทะเบียนปลอมจาก 1ลำ เป็น5 ลำ เนื่องจากตั้งแต่ปี  2523 ได้มีการควบคุมไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนเรืออวนลาก  โดยไม่ต่ออาชญาบัตรให้  แต่กลับพบว่ามีจำนวนเรืออวนลากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  

ปัญหาเรือประมงผิดกฎหมายทั้งอวนลากอวนรุน  และเรือปั่นไฟ  นอกจากจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อียูให้ใบเหลืองกับไทยแล้ว  ที่ผ่านมายังส่งผลกระทบต่อชาวประมงชายฝั่งใน  22 จังหวัดของประเทศไทย นับแสนครัวเรือน  ที่ต้องเลิกอาชีพประมง  และทำให้ชุมชนประมงชายฝั่งล่มสลายเนื่องจากทำลายล้างทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่ง และในความเป็นจริงแล้ว  85  เปอร์เซ็นต์   ของอาชีพประมง  เป็นชาวประมงชายฝั่ง  ส่วนที่เหลืออีก  15 เปอร์เซ็นต์  เป็นการประมงผิดกฎหมาย  กลับส่งผลกระทบในวงกว้างแต่เป็นกลุ่มทุนที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรม ทั้งระบบ

หากรัฐบาลประกาศยกเลิกเรือประมงเหล่านี้ เชื่อว่าภายใน  6 เดือนทรัพยากรสัตว์น้ำ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน  ก็จะกลับมาสมบูรณ์ และยังเป็นการปลดล๊อคการให้ใบแดงของอียูด้วย  แม้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงของไทยบ้างก็ตาม

แหล่งข่าวจากชาวประมง เปิดเผยว่า มาตรการเข้มงวดของรัฐบาลในการทำประมง จะเป็นผลดีในอนาคต่อสัตว์น้ำ เนื่องจากอาหารทะเลกำลังร่อยหรอไปเป็นจำนวนมาก จากสาเหตุของการทำระมงที่ไม่ได้วางมาตรการเข้มข้น