วาง3หลักรื้อกม.แข่งขัน
เป็นเวลา 16 ปีแล้ว ที่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ แต่ปรากฏว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถดำเนิน “คดี”
โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐ โพสต์ทูเดย์
เป็นเวลา 16 ปีแล้ว ที่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ แต่ปรากฏว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถดำเนิน “คดี” กับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้าข่ายทำการค้าที่ “ผูกขาด” และ “ไม่เป็นธรรม” ได้แม้แต่รายเดียว
จึงมีความพยายามผลักดันการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ และคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปีนี้
“สาเหตุที่ต้องมีการปรับปรุง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ซึ่งบังคับใช้มาแล้ว 16 ปี แต่ไม่เคยดำเนินคดีกับรายใดได้เลย เนื่องจากกฎหมายมีจุดอ่อนในเรื่องการบังคับใช้ เช่น โครงสร้างของคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่มี รมว.พาณิชย์ ทำหน้าที่เป็นประธาน ซึ่งที่ผ่านมา รมว.พาณิชย์ จะมีภาระงานมาก ทำให้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการเพียงปีละ 1-2 ครั้ง” บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว
ในขณะที่อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพและใช้เวลานานคือ เมื่อมีการเสนอเรื่องร้องเรียนเข้ามาให้บอร์ดพิจารณา หากบอร์ดรับเรื่องไว้สอบสวนจะต้องมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีมูลหรือไม่ จากนั้นจะเสนอกลับไปให้บอร์ดพิจารณาตัดสินว่าเรื่องที่ร้องเรียนมีมูลหรือไม่ ซึ่งบางเรื่องใช้เวลาถึง 3 ปี หากบอร์ดเห็นว่ามีมูลก็จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนมาพิจารณา ซึ่งตรงนี้ก็จะใช้เวลาอีก 3-4 ปี เมื่อรวมระยะในการดำเนินการต่างๆ ทำให้เรื่องที่ถูกร้องเรียนมาส่วนใหญ่หมดอายุความ 10 ปี
ที่สำคัญแม้ว่าบอร์ดจะเห็นชอบให้ส่งฟ้องคดี แต่จะต้องยื่นสำนวนให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งฟ้อง และหลายๆ กรณีอัยการส่งสำนวนกลับมาให้บอร์ดหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ทำให้การยื่ีนฟ้องคดียิ่งล้าช้าไปอีก
นอกจากนี้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าไม่ได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานแข่งขันทางการค้าไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาได้ เพราะหากจะลงไปทำการสืบสวนสอบสวนก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปดำเนินการแทน ส่งผลให้การดำเนินการสืบสวนสอบสวนมีขั้นตอนเพิ่มขึ้น
เพื่อลดอุปสรรคการบังคับใช้กฎหมาย บุณยฤทธิ์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์กำหนดแนวทางปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า โดยยึดหลัก 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมคือ จะกำหนดเงื่อนไขให้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจที่มีการแข่งขันกับภาคเอกชน ต้องเข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับที่มีการปรับปรุงแก้ไข แต่ได้มีข้อยกเว้นในกรณีที่รัฐวิสาหกิจดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และการสั่งตรึงราคาน้ำมันตามนโยบายของรัฐบาล เป็นต้น
2.แก้ไขในเรื่องประสิทธิภาพ โดยแนวทางคือ แยกสำนักแข่งขันทางการค้าออกมาเป็นองค์กรอิสระ และต้องมีการสรรหาผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการในสำนักแข่งขันทางการค้า เพื่อให้มีระยะเวลาในการดำเนินการได้อย่างเต็มที่กับเรื่องที่ถูกร้องเรียนเข้ามา
และ 3.การแก้ไขในเรื่องความอิสระขององค์กร คือ เนื่องจากพฤติกรรมแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมจะมีโทษทางอาญา ดังนั้น จะต้องให้อำนาจคณะกรรมการแข่งขันสืบสวนสอบสวนเรื่องได้ด้วยตัวเอง โดยอำนาจจะเหมือนกับการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพราะที่ผ่านมาในการสืบสวนสอบสวนเรื่องที่ถูกร้องเรียนต้องขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ขั้นตอนล่าช้าออกไป
พร้อมกันนั้น กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไขเกณฑ์ “ผู้มีอำนาจเหนือตลาดใหม่” โดยตั้ง “ตุ๊กตา” ว่าเดิมผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดจะต้องมีส่วนแบ่งตลาด 50% ขึ้นไป และมียอดขายไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท จะลดส่วนแบ่งตลาดเหลือ 30% และมียอดขายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
“หลักการของกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เน้นลงโทษใคร และปัจจุบันก็พบว่ามีผู้ประกอบการในประเทศที่มีอำนาจเหนือตลาดในแต่ละธุรกิจ แต่ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายจะลงโทษไม่ได้ เพราะหากมีพฤติกรรมทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม หรือมีการฮั้วกันเพื่อกีดกันทางการค้าก็สามารถใช้อำนาจในมาตรา 29 ดำเนินการได้ แต่สุดท้ายก็มาติดตรงที่ว่าการดำเนินการต่างๆ ต้องใช้เวลามาก” บุณยฤทธิ์ ระบุ
ล่าสุด คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ อุตสาหกรรม และแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอรายงานศึกษาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ในทิศทางที่สอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ เช่น คณะกรรมการแข่งขันต้องเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน ให้รัฐวิสาหกิจที่แข่งขันกับเอกชนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ และกำหนดโทษให้มีทั้งเป็นโทษทางอาญาและโทษทางปกครอง เพื่อให้เกิดการยืดหยุ่นและบังคับใช้ได้ทันเหตุการณ์ เป็นต้น
เมื่อทั้งทางฟากฝั่งหน่วยงานราชการและ สนช.ต่างก็เห็นพ้องให้แก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้า จึงต้องติดตามว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีท่าทีอย่างไรต่อการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้