FAAเจอข้อบกพร่องฯ ไทยเสี่ยงถูก‘ลดเกรด’การบิน

18 กรกฎาคม 2558

สรุปผลเบื้องต้นแล้ว หลัง FAA เข้าตรวจสอบมาตรฐาน ปรากฏว่าผลตรวจสอบออกมาในทิศทางค่อนข้างลบ

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐ โพสต์ทูเดย์

สรุปผลเบื้องต้นแล้ว หลังคณะองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐ (FAA) เข้าตรวจสอบมาตรฐานการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินของกรมการบินพลเรือน (บพ.) ในช่วงวันที่ 13-17 ก.ค. 2558 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้รายงานผลทางวาจาให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม รับทราบ เมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา

แต่ปรากฏว่าผลตรวจสอบออกมาในทิศทางค่อนข้างลบ

เนื่องจากเจ้าหน้าที่ FAA ซึ่งเข้าตรวจมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทย ภายใต้มาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) 3 ภาคผนวก คือ ภาคผนวก 1 ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ (Personnel Licensing) ภาคผนวก 6 การปฏิบัติการบินของอากาศยาน (Operation of Aircraft) และภาคผนวก 8 ความสมควรเดินอากาศของอากาศยาน (Airworthiness of Aircraft)

พบว่ามีประเด็นที่ฝ่ายไทยและ บพ. ต้องแก้ไขใน 3 เรื่อง คือ 1.จำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินมีไม่เพียงพอ และคุณสมบัติเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจสอบไม่ครบจำนวนแบบอากาศยานที่ประเทศไทยใช้อยู่และมีการจดทะเบียนไว้ 2.แนวทางในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ (Technical Guidance) ยังขาดรายการปฏิบัติในบางเรื่อง ข้อมูลไม่ทันสมัย ไม่ครบถ้วน และ 3.การตรวจติดตาม (Surveillance) ไม่ครบถ้วน ซึ่งเป็นผลจากการที่มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ

“FAA จะให้เวลาไทยแก้ไขเป็นเวลา 65 วัน นับตั้งแต่วันที่ 17 ก.ค. 2558 แต่ภายใน 30 วัน จากนี้ FAA จะแจ้งอย่างเป็นทางการว่าเราต้องแก้ไขเรื่องใดบ้าง ซึ่งเรารู้แล้วว่ามีประเด็นอะไรที่ต้องแก้ไข ขณะเดียวกัน ในระหว่างการแก้ไข FAA จะส่งทีมเข้ามาติดตามการแก้ไขข้อบกพร่องของไทยว่าเสร็จเรียบร้อยหรือไม่อย่างไร และเมื่อครบกำหนด 65 วัน ทาง FAA จะส่งทีมชุดเดิมเข้ามาตรวจสอบอีกครั้งภายใน 30 วัน ก่อนจะแจ้งผลว่าไทยยังอยู่ในมาตรฐาน Category 1 เช่นเดิมหรือจะถูกลดมาตรฐานลงเป็น Category 2” พล.อ.อ.ประจิน ระบุ

สำหรับการดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องที่เจ้าหน้าที่ FAA ตรวจพบนั้น พล.อ.อ.ประจิน ระบุว่า บพ.อยู่ระหว่างเปิดรับเจ้าหน้าที่ที่จะมาทำการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน เมื่อตกลงว่าจ้างแล้วจะมีการฝึกอบรมทั้งในระยะกลางและระยะยาว เพื่อให้ไทยมีเจ้าหน้าที่เพียงพอและมีคุณสมบัติครบถ้วนในการตรวจสอบและกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการบินตามข้อเสนอแนะ FAA 

“เราคงไม่สามารถรับคนเข้ามาแล้วเก่งปุ๊บ ทำงานได้ทันที ต้องฝึกอบรมก่อน และไม่สามารถหาคนได้ทีเดียว 100%” พล.อ.อ.ประจิน ยอมรับว่า การจัดการเจ้าหน้าที่อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง และคงต้องติดตามท่าทีของ FAA ว่า เมื่อได้เห็นแผนบรรจุและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของไทยจะพอใจและคงมาตรฐานของไทยไว้ที่ Category 1 เหมือนเดิมหรือไม่

ส่วนแผนสำรองหาก FAA ลดเกรดมาตรฐานการบินของไทย พล.อ.อ.ประจิน ระบุว่า “ตอนนี้สายการบินของไทยก็ถูกจำกัดไม่ให้เพิ่มเที่ยวบิน และไม่เปลี่ยนแบบเครื่องบินต่างๆ อยู่แล้ว ก็หวังว่าสิ่งที่เราได้ทำมาจะการันตีว่าเราไม่สมควรถูกลดชั้น ส่วนบริษัท การบินไทย ซึ่งมีเที่ยวบินไปสหรัฐ เขามีแผนสำรองคือ ถ้าเข้าสหรัฐไม่ได้ เขาจะทำงานร่วมกับพันธมิตรสายการบิน (สตาร์อัลไลแอนซ์) ที่จะส่งต่อลูกค้าให้กัน จึงไม่น่ากระทบกับลูกค้า แต่จะทำให้ฐานการทำธุรกิจสายการบินของไทยแคบลง”

ในขณะที่การแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) พล.อ.อ.ประจิน บอกว่า แม้ว่าคู่มือการตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตสายการบินใหม่จะเสร็จแล้ว แต่การเริ่มกระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC re-Certification) ยังทำไม่ได้ เพราะยังขาดผู้เชี่ยวชาญ และขณะนี้จะยังตอบไม่ได้ว่าจะได้ผู้เชี่ยวชาญมาเมื่อใด จึงคาดว่าการตรวจสายการบิน 41 แห่ง ไม่น่าจะเสร็จทันปลายปีนี้

ด้าน จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวเพียงว่า “คงต้องรอผลอย่างเป็นทางการ ซึ่ง FAA จะให้เวลาไทยแก้ไขอีก 65 วัน และเรามีแผนสำรองไว้แล้ว”

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการการบิน ประเมินว่า หาก FAA ลดมาตรฐานด้านการบินของไทยลงสู่ระดับ Category 2 สายการบินที่มีเที่ยวบินไปสหรัฐคือ การบินไทยจะถูกห้ามเพิ่มเส้นทางบินใหม่ แต่ประเด็นที่แย่กว่านั้น คือ FAA มีข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป (EASA) และอาจทำให้ EASA มีการตัดสินใจในทางที่เป็นลบกับไทย ซึ่งจะมีผลกระทบรุนแรงกว่ามาก

แม้จะมีความเสี่ยงว่าไทยอาจถูกสหรัฐ “ลดเกรด” แต่ประเด็นเร่งด่วนที่ต้อง บพ.ทำ คือ ปลดล็อกข้อบกพร่อง (SSC) โดยเร็วที่สุด ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปมถูกห้ามบินในขณะนี้

Thailand Web Stat