สกัด ‘นอมินี’ พบ 6 พันบริษัทเสี่ยง
โดย...อรวรรณ จันทร์ธิวัตรกุล
โดย...อรวรรณ จันทร์ธิวัตรกุล
ปัญหานายทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจหรืออาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย โดยใช้“นอมินี” เป็นข่าวครึกโครมเป็นระยะๆ ตั้งแต่กรณีนายทุนต่างชาติเข้าซื้อที่ดินนับแสนไร่เพื่อปลูกข้าว ไปจนถึงการแสวงหาประโยชน์จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น พัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่
จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งมีฐานข้อมูลบริษัทจดทะเบียนทั้งประเทศที่จะเข้าไปตรวจสอบและจัดการธุรกิจนอมินีเหล่านี้
“จากการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียน 6.13 แสนแห่ง โดยอาศัยหลักเกณฑ์คัดกรองว่า มีต่างชาติถือหุ้นปริ่มๆ คือถือหุ้น 49% มีกรรมการเป็นชาวต่างชาติ และให้สิทธิกรรมการต่างด้าวมากกว่าผู้ถือหุ้นคนไทย พบว่ามีกว่า 6,000 แห่ง ที่เสี่ยงเป็นนอมินี ซึ่งในปีนี้เราได้คัดเลือกบริษัท 276 แห่งที่เราจะลงไปตรวจสอบเชิงลึก หากพบว่าเป็นนอมินีจริงก็จะเพิกถอนการจดทะเบียน จากนั้นจะประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดำเนินคดี” ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้สัมภาษณ์ “โพสต์ทูเดย์”
ผ่องพรรณ ระบุว่า แม้วันนี้กรมจะมีมาตรการป้องปรามและตรวจสอบกรณีการใช้นอมิมีทำธุรกิจที่ต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าว ตั้งแต่การตรวจสอบที่มาของแหล่งเงินก่อนจะมีการจดทะเบียน เช่น ตรวจสอบว่าคนไทยมีหลักฐานว่ามีเงินจริงหรือไม่ หรือเดิมคนไทยถือหุ้นในบริษัท 100% แต่ภายหลังมีคนต่างด้าวเข้ามาร่วมถือหุ้น กรมก็เข้าไปตรวจสอบ แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการปัญหานอมินีได้ทั้งหมด เพราะจะต้องอาศัยการตรวจสอบเชิงลึกเท่านั้น โดยธุรกิจที่คนต่างด้าวใช้นอมีนีคนไทยส่วนใหญ่จะมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และอยู่ธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจร้านอาหาร และกลุ่มท่องเที่ยว
เห็นได้จากบริษัทที่เสี่ยงเป็นนอมินี ซึ่งกรมจะร่วมกับดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบเชิงลึก 276 บริษัทนั้น เป็นธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ 91 ราย ธุรกิจร้านอาหาร 84 ราย ธุรกิจกลุ่มท่องเที่ยว 54 ราย ธุรกิจนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ 24 ราย ธุรกิจเช่ารถยนต์ 13 ราย และธุรกิจสปา 10 ราย ขณะที่ธุรกิจเหล่านี้จะกระจุกตัวในเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต สมุย พัทยา ชลบุรี และเชียงใหม่
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่มีอยู่ในมือ และเจ้าหน้าที่ของกรมไม่ใช่ตำรวจที่จะไปตรวจจับได้ หรือมีอำนาจตรวจสอบในเชิงลึก ทำให้ปีที่แล้วมีการดำเนินคดีกับบริษัทนอมินีเพียง 7 ราย
“อย่างกรณีใช้นอมินีไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ หากเราพบว่ามีการใช้นอมินี เราก็ต้องส่งข้อมูลไปให้กรมที่ดินตรวจสอบ หรือส่งข้อมูลให้ดีเอสไอดำเนินการ เรามีหน้าที่เพียงส่งข้อมูลเพื่อให้มีการเข้าไปตรวจสอบซ้ำ ส่วนจะดำเนินคดีได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” ผ่องพรรณ ระบุถึงจุดอ่อนในจัดการนอมินี พร้อมระบุว่า “เรายอมรับว่าคงแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด แต่เป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่อง เพราะเราก็ไม่ใช่ตำรวจที่จะไปตรวจจับ แต่ถ้าพบว่ามีความผิดเราต้องจัดการ และใช้ไม้แข็งตั้งแต่ต้น คือ ไม่รับจดตั้งบริษัทให้ตั้งแต่ต้นทาง”
สำหรับหน้าที่ดูแลด้านธรรมาภิบาลบริษัทจดทะเบียนกว่า 6 แสนแห่ง ผ่องพรรณ บอกว่า เป็นเป้าหมายของกรมที่จะสร้างความน่าเชื่อให้บริษัทที่มาจดทะเบียนกับกรม และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมากรมเข้มงวดในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป โดยการจดทะเบียนตั้งบริษัทจะนำหลักฐาน “Bank statement” มาแสดง เพื่อการันตีว่าบริษัทนี้มีเงินจริง หรืออย่างน้อยก็ทำให้บริษัทมีความน่าเชื่อถือตั้งแต่ต้น
“เพื่อให้บริษัทที่มาจดทะเบียนใหม่น่าเชื่อถือ หรืออย่างน้อยก็ทำให้บัญชีถูกต้องตั้งแต่ต้น เราจึงให้บริษัทที่จะมาจดทะเบียน และมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทขึ้นไป ต้องแสดงหลักฐาน Bank statement ไม่ใช่จดทะเบียนบริษัท 10 ล้าน แต่ไม่มีเงินจริง ขณะที่มาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อรายย่อย เพราะจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่าบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปมีเพียง 4% และที่ผ่านมาเราก็พบว่าบริษัทมาขอจดทะเบียนทุน 5,000 ล้านบาท หรือหมื่นล้านบาทก็มีปัญหาไม่มีเงินจริงเยอะ”
นอกจากนี้ ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มค้าสลาก ขายตรง ไซโลห้องเย็น ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันภัย หากไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจโดยตรง ทางกรมก็จะไม่รับจดทะเบียนธุรกิจให้เช่นกัน รวมทั้งในอนาคตจะเพิ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเข้าไปด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกรมการท่องเท่ี่ยว
ส่วนบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ก่อนแล้วนั้น ผ่องพรรณ กล่าวว่า หากบริษัทไม่ส่งงบการเงินหรือเรียก บัญชีแล้วไม่จัดส่ง หรือแจ้งที่อยู่ไว้แต่หาไม่เจอ กรมจะเขียนหมายเหตุไว้ในงบการเงินของบริษัทนั้น เพื่อที่ว่าคนที่จะร่วมทำธุรกิจจะได้ระมัดระวังไม่ทำธุรกิจกับบริษัทที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ถูกเขียนหมายเหตุแล้วประมาณ 7,000 แห่ง
“เราเขียนหมายเหตุไว้ เพื่อที่ว่าอย่างน้อยคนที่มาดูจะได้ระมัดระวัง และเราจะส่งรายชื่อบริษัทเหล่านี้ไปให้กรมสรรพากรเพื่อติดตามตรวจสอบอีกที เพราะเป็นไปได้ว่าบริษัทเหล่านี้อาจมีการเลี่ยงภาษี” ผ่องพรรณย้ำ
ผ่องพรรณ ยังระบุว่า กรมยังมีมาตรการเข้มงวดในการตรวจสอบบัญชีบริษัทจดทะเบียน โดยจะเข้าไปตรวจสอบบริษัทสอบบัญชีที่มีเป็น “มือปืน” คือ รับทำบัญชีหรือรับสอบทานบัญชีสูงกว่าปกติ เนื่องจากปกติแล้วนักบัญชี 1 คน จะรับทำบัญชีได้ไม่เกิน 200 บริษัท แต่หากพบว่ามีการทำบัญชีเป็นหมื่นหรือเป็นพันบริษัทตรงนี้ก็จะเข้าไปตรวจสอบด้วย เพราะในอดีตเคยปรากฏมาแล้วว่านักบัญชี 1 คน ทำบัญชีให้บริษัท 3 หมื่นแห่ง
ผ่องพรรรณ กล่าวถึงแผนการดำเนินการในอนาคตว่า ภายในปีนี้กรมจะเสนอร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนนิติบุคคลฉบับใหม่ที่แยกออกมาเป็นการเฉพาะ เพื่อสนับสนุนให้มีการจดทะเบียนตั้งนิติบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คือ แม้ว่าจะมีผู้ถือหุ้นเพียง 1 คนก็สามารถจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลได้ ไม่จำเป็นต้องไปหาผู้ถือหุ้นอีก 2 คนมาถือคนละ 1 หุ้น ซึ่งเราก็รู้ว่าเป็นของปลอม สู้ให้จดทะเบียนคนเดียวไปเลยดีกว่า
“ทุกวันนี้กรณีจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องมีผู้ถือหุ้น 2 คน จัดตั้งบริษัทต้องมี 3 คน แต่ญี่ปุ่นไม่ต้อง ถ้าจะตั้งบริษัทก็มาคนเดียวได้ ซึ่งเป้าหมายของแนวคิดนี้ คือ ต้องการให้บุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจและอยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ ซึ่งจะทำให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลในการเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ตรงจุด ขณะที่บุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลยังสามารถใช้สิทธิเสียภาษีที่ 20% ได้ และหากธุรกิจล้มเหลวหรือไม่ประสบความสำเร็จ ตัวเจ้าของก็ไม่ต้องล้มละลายตามบริษัทไปด้วย ทำให้มีโอกาสเริ่มต้นใหม่”
เหล่านี้คือภารกิจที่ผ่องพรรณได้ดำเนินการและจะดำเนินการต่อไปในอนาคต ในฐานะที่ดูแลฐานข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยเฉพาะการสกัดนอมินีที่เป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน