เดอะบลูสกายรีสอร์ท ต่อยอดสู่อสังหาริมทรัพย์
โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
การทำธุรกิจโรงแรมหรือรีสอร์ทมีคู่แข่งในตลาดจำนวนมาก เนื่องจากในยุคนี้ใครที่มีเงินเก็บ และมีที่เดินเก็บไว้มากๆ ก็นิยมจะนำมาลงทุนทำเป็นโรงแรม รีสอร์ท เพราะมองว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนระยะยาว ดังนั้น หากคิดจะลงทุนในธุรกิจนี้ และไม่ต้องการเป็นโรงแรม รีสอร์ท ที่ใช้แบรนด์ในเครือขนาดใหญ่บริหาร ก็ต้องมีความแตกต่าง มีจุดขายที่โดดเด่นเฉพาะตัว จึงจะดึงดูดลูกค้าได้ดี สามารถต่อกรกับแบรนด์ระดับนานาชาติได้สุรางคนางค์ คุณารัตนอังกูร ผู้จัดการทั่วไป เดอะบลูสกายรีสอร์ท เปิดเผยว่า ได้ดำเนินธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว โดยจุดกำเนิดมาจากคุณอาสนใจทำธุรกิจท่องเที่ยวและรีสอร์ท และมีที่ดินซึ่งตั้งอยู่บนทำเลที่ดีอยู่ในมือ จึงตัดสินใจมาลงทุนทำรีสอร์ทขึ้น
รีสอร์ทแห่งแรกก็คือ เดอะบลูสกายรีสอร์ท@เกาะพยาม จ.ระนอง เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดมัลดีฟส์เมืองไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6 ไร่ ในช่วงเริ่มต้นเปิดเพียง 5 ห้อง จากนั้นเมื่อกระแสตอบรับดีจึงขยาย จนกระทั่งปัจจุบันเต็มพื้นที่มีทั้งหมด 29 ห้อง
สำหรับแห่งที่ 2 คือ เดอะบลูสกายรีสอร์ท@ระนองตั้งอยู่ในตัวเมืองระนอง เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดผสาน 2 บรรยากาศ คือ มัลดีฟส์ ผสม ซอร์เรนโต ซึ่งเป็นเมืองบนผาสูงในอิตาลี มีทั้งหมด 16 ห้อง ยังมีพื้นที่เหลือสำหรับขยายได้อีก แห่งที่ 3 คือ เดอะบลูสกายรีสอร์ท@เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ออกแบบภายใต้แนวคิดบ้านแสนรักในชนบทอังกฤษ มีทั้งหมด 28 ห้อง และขณะนี้อยู่ระหว่างทำโครงการสร้างสวนดอกไม้เพิ่มเติมบนพื้นที่ 30 ไร่ในรีสอร์ท คาดว่าจะเสร็จและเปิดให้บริการได้ปลายปีนี้ และแห่งที่ 4 คือ เดอะบลูสกายรีสอร์ท@หัวหิน ออกแบบภายใต้แนวคิดโรแมนติกกับชายหาดส่วนตัวและติดทะเล มี 13 ห้อง ซึ่งใช้เต็มพื้นที่แล้ว
“เดอะบลูสกายรีสอร์ทแต่ละแห่งที่สร้างขึ้นจะวางแนวคิดเฉพาะตัว และเป็นรูปแบบโรงแรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ (บูติก โฮเต็ล) จะมีจำนวนห้องพักสำหรับให้บริการไม่มากนัก แต่จะเน้นเรื่องทำเลที่ตั้งว่าจะต้องเป็นทำเลที่สวยที่สุดในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งถือเป็นจุดขายสำคัญ และเป็นจุดเด่นที่ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มอย่างต่อเนื่อง” สุรางคนางค์ กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วงแรกเดอะบลูสกายรีสอร์ทเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว เนื่องมาจากการที่มีบล็อกเกอร์มาเที่ยวแล้วไปเขียนรีวิวเผยแพร่บนเว็บไซต์ ทำให้มีคนรู้จักมากขึ้นและสนใจมาเข้าพัก มีกระแสตอบรับดีอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ทำให้รีสอร์ทเห็นความสำคัญของช่องทางออนไลน์ จึงใช้เป็นช่องทางหลักๆ ในการทำตลาด เช่น การทำเฟซบุ๊กแฟนเพจของเดอะบลูสกายรีสอร์ท เพื่อให้ลูกค้าได้เข้ามาติดตามกิจกรรม ซึ่งปัจจุบันมีแฟนเพจแล้วกว่า 9 หมื่นคน
นอกจากนี้ ก็จะดึงบล็อกเกอร์ต่างๆ มารีวิวรีสอร์ท เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ ที่จะให้ความสำคัญกับการหาข้อมูลท่องเที่ยวผ่านข้อมูลรีวิวต่างๆ บนโลกออนไลน์ ส่วนอีกช่องทางในการทำตลาดคือ การออกบูธในงานท่องเที่ยว
“การที่เดอะบลูสกายรีสอร์ทติดตลาดลูกค้าได้ไม่ยาก เพราะตัวผลิตภัณฑ์คือรีสอร์ทโดนใจกลุ่มลูกค้า เนื่องจากอยู่ในจุดที่สวยที่สุดในพื้นที่นั้นๆ ขณะที่การตลาดออนไลน์ช่วยให้ลูกค้ารู้จักรีสอร์ทได้มากขึ้น ส่วนการบริการในรีสอร์ทก็เป็นอีกส่วนสำคัญ เนื่องจากจะเน้นให้คนในรีสอร์ทบริการด้วยใจ เลยช่วยสร้างความประทับใจและดึงดูดลูกค้าให้มาซ้ำหรือบอกต่อ” สุรางคนางค์ กล่าว
ปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าของเดอะบลูสกายรีสอร์ท 90% เป็นคนไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีเพียง 10% เท่านั้น โดยคนไทยก็จะมีทั้งกลุ่มคนที่เดินทางท่องเที่ยวเองและกลุ่มองค์กรที่มาจัดกิจกรรม แต่ละรีสอร์ทก็จะมีกลุ่มเป้าหมายหลักต่างกันไป เช่น เกาะพยาม และระนอง ลูกค้าหลักๆ จะเป็นคนทำงาน วัยรุ่น ส่วนเขาค้อและหัวหินจะเป็นกลุ่มครอบครัวมากกว่า แม้ว่าจะมีปัญหาเศรษฐกิจหรือการเมืองก็ไม่กระทบรีสอร์ทนัก เพราะรีสอร์ทเจาะตลาดระดับบน กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มมีกำลังซื้อสูงอยู่แล้ว
สุรางคนางค์ กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้าต่างชาติมาน้อย แต่อนาคตก็พยายามกระจายความเสี่ยงเพิ่มสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากขึ้น กลุ่มที่จะไปเจาะตลาดคือ ยุโรป แถบสแกนดิเนเวีย ที่ชอบการหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ซึ่งเกาะพยามน่าจะเป็นจุดหมายแรกที่ดึงต่างชาติมาได้มากขึ้น เนื่องจากยุโรปต้องการหนีหนาวมาเที่ยวและชื่นชอบจุดหมายทางทะเลอยู่แล้ว และเกาะพยามก็มีความเป็นธรรมชาติที่ยังสดใหม่อยู่ จึงน่าจะได้รับความสนใจสูง โดยจะเน้นติดต่อผ่านทางตัวแทนจำหน่ายท่องเที่ยวที่ทำตลาดยุโรปอยู่แล้ว ให้ส่งลูกค้ามาพักที่เกาะพยาม
ด้านการแข่งขันในธุรกิจรีสอร์ทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะคนมาทำธุรกิจนี้กันมากขึ้น แต่เนื่องจากทางรีสอร์ทก็ไม่ได้หยุดเรื่องการพัฒนา โดยพยายามขยายปรับปรุงอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แปลกใหม่ จึงมั่นใจว่าสามารถแข่งขันได้ดี ทั้งนี้ ในแต่ละปีตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตไว้ 20-30% ขึ้นไป เนื่องจากมีการขยายรีสอร์ทอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนห้องพักที่ให้บริการนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นรายได้ก็ต้องเติบโตตามจำนวนห้องพัก
สุรางคนางค์ กล่าวว่า ในอนาคตก็มีแผนขยายรีสอร์ทเพิ่มเติมในพื้นที่เดิมที่ทำรีสอร์ทอยู่ เนื่องจากมีความถนัดอยู่แล้ว ขณะเดียวกันจะขยายธุรกิจไปทำอสังหาริมทรัพย์ด้วย โดยจัดตั้งบริษัท เดอะบลู
สกาย พร็อพเพอร์ตี้ ทุนจดทะเบียน 80 ล้านบาท เริ่มโครงการแรกที่เขาค้อ เป็นโครงการบ้านพร้อมที่ดินรวม 100 แปลง เน้นขายให้กับกลุ่มลูกค้า พร้อมนำเสนอบริการรับบริหารหลังโครงการเสร็จ ภายใต้แบรนด์ เดอะบลูสกายรีสอร์ท
สาเหตุที่หันไปขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมองว่าแนวโน้มคนที่มีบ้านอยู่แล้วในเมืองหลวงต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 ในต่างจังหวัดสูงขึ้น ทั้งเพื่อพักผ่อนเองและเพื่อลงทุนให้เช่าพัก ซึ่งบริษัทมั่นใจในทำเลที่ตั้งของที่ดินที่มีอยู่ในมือ ประกอบกับมีจุดเด่นเรื่องการทำรีสอร์ทมาก่อน จึงเข้าใจด้านการบริการดี สามารถผสมผสานจุดเด่นข้อนี้เข้าไปและนำเสนอเป็นบริการเสริมในการช่วยดูแลบ้านพักให้ลูกค้าต่อได้ ในกรณีที่ต้องการให้นำบ้านตากอากาศมาบริหารเป็นรีสอร์ท หากโครงการอสังหา ริมทรัพย์แรกประสบความสำเร็จ ก็คงพิจารณาขยายโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่ออีกในอนาคต เน้นในพื้นที่ที่มีรีสอร์ทตั้งอยู่แล้ว
จัดได้ว่าเป็นแบรนด์รีสอร์ทอีกแห่งที่กระแสตอบรับจากนักท่องเที่ยวสูงมาก ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะแนวคิดการทำโรงแรมและการทำตลาดที่เข้าได้ถึงคนยุคใหม่ที่นิยมการแสวงหาข้อมูลบนโลกออนไลน์นั่นเอง