แก้ปัญหารถเก่า ข้อเสนอที่ต้องรอบคอบ
ถือเป็นช่องว่างของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ยังหาทางแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีไม่ได้ สำหรับการจัดการปัญหารถเก่า
โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์
ถือเป็นช่องว่างของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ยังหาทางแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงด้วยดีไม่ได้ สำหรับการจัดการปัญหารถเก่าหมดสภาพที่ยังคงวิ่งอยู่บนท้องถนนในปัจจุบันนี้
ที่ผ่านมาในช่วง 1-2 ปี ก่อนหน้านี้เคยมีผู้นำเสนอโครงการจำกัดอายุการใช้งานรถยนต์ อาทิ รถยนต์ที่มีอายุเกิน 7-10 ปี ห้ามนำเข้ามาวิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ หากนำเข้ามาวิ่งจะต้องเสียภาษีเทียบเท่ารถใหม่ แต่เรื่องราวดังกล่าวดูเหมือนจะเงียบหายไป จนล่าสุดมีผู้มองเห็นถึงปัญหาดังกล่าวและมีแนวคิดในการแก้ไขให้เป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ มีการมองแบบตั้งความหวังกันว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะเป็นผู้ยื่นมือเข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าวได้อย่างจริงจัง ด้วยความเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจการปกครองแบบพิเศษ พร้อมแนวทางการวางรากฐานที่ต้องการปฏิรูปประเทศให้มีความมั่นคงในระยะยาว
ขณะที่มาตรการควบคุมรถยนต์เก่านั้นจะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์เกิดความหมุนเวียนได้อย่างสมดุล รวมถึงการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) อีกด้วย ซึ่งผู้ที่มองเห็นปัญหาดังกล่าวนั้นอยากให้รัฐบาลลองพิจารณาการปรับอัตราการเก็บภาษีรถยนต์เก่าให้สูงขึ้น พร้อมทั้งออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ที่นำรถยนต์เก่าเปลี่ยนเป็นรถยนต์ใหม่เพื่อให้เป็นระบบสอดรับกัน
นอกจากนั้น ยังมองว่ารัฐบาลชุดนี้อาจเป็นรัฐบาลชุดเดียวที่สามารถทำให้มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นได้ โดยหากมาตรการดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลชุดนี้นั้น มองว่าก็อาจไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกเลยก็เป็นได้
“โพสต์ทูเดย์” สอบถามไปยัง ธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ถึงปัญหาดังกล่าว โดยให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาเคยมีการพูดคุยถึงปัญหาความกังวล และได้มีการส่งเสริมในการลดมลพิษบนท้องถนน จึงได้มีการกำหนดให้มีการใช้มาตรฐานยูโรควบคุมการใช้เชื้อเพลิงในรถยนต์ตั้งแต่ระบบการผลิตจากโรงงาน
สำหรับปัญหารถยนต์เก่าบนท้องถนนในประเทศไทยนั้น จะต้องมีการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสภาพรถยนต์ เพื่อให้เกิดการบำรุงรักษาอย่างถูกต้องและใกล้ชิด ซึ่งการตรวจสอบสภาพรถยนต์ดังเช่นในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอ
“อยากให้มีสมุดพกประจำรถในการตรวจสอบบำรุงรักษาประจำรถโดยออกข้อบังคับความเข้มงวดให้ยึดถือสมุดดังกล่าวที่ได้รับการตรวจสภาพและการบำรุงรักษาอย่างถูกต้องจากหน่วยงานกลางหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้อัตราการปล่อยมลพิษอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน”
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องมีมาตรฐานการจัดการและระบบบริหารที่ดีในการสนับสนุนให้นำรถยนต์เก่าออกจากท้องถนน ซึ่งมองว่าหากต้องการเริ่มต้นจัดการปัญหาดังกล่าว ควรจะต้องจัดการรถยนต์เก่าที่มีอายุ 20-30 ปีขึ้นไปก่อน พร้อมการกำหนดมาตรการในการต่อภาษีรถยนต์เก่า รวมถึงการขยายระบบขนส่งมวลชนให้ครอบคลุม
ธนวัฒน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมีการพูดคุยถึงปัญหาดังกล่าวอยู่บ้างกับรัฐบาล แต่ปัญหาดังกล่าวนี้มองว่าจะต้องใช้ระยะเวลาและความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งในต่างประเทศมีแนวทางการจัดการปัญหาที่ได้ผลและสำเร็จให้ประเทศไทยได้ศึกษาและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอยู่หลายประเทศ
นอกจากนี้ จะต้องให้มีการเคลื่อนตัวของรถยนต์เก่าหรือรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้งานออกจากถนน ซึ่งต้องคิดคำนวณว่าค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการหรือวิธีในการจัดการนั้นจะเป็นเช่นไร ซึ่งหากมองว่าต้องแก้ไขในการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อยากให้มองถึงปัญหาทางด้านพวงมาลัยที่ประเทศไทยเป็นพวงมาลัยขวา ในขณะที่ประเทศรอบข้างเป็นพวงมาลัยซ้าย ยกเว้นประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เท่านั้น โดยหากสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้จะช่วยลดอุบัติเหตุและการปล่อยมลพิษบนท้องถนนได้อย่างยั่งยืน
ด้าน ภิญโญ ธนวัชรภรณ์ ผู้จำหน่ายรถยนต์มือสองภายใต้ชื่อ “โย รัชดา” ในฐานะเลขาธิการสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว กล่าวว่า ปกติแล้วสถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) จะไม่รับจัดไฟแนนซ์ของรถยนต์ตั้งแต่ก่อนหน้าปี 2546 เป็นต้นไป ดังนั้นจะไม่เห็นรถยนต์เก่าขนาดนี้วิ่งในเขตกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน
รถยนต์เก่าเหล่านี้จะไปอยู่ตามต่างจังหวัดซึ่งจะมีการจัดไฟแนนซ์ท้องถิ่นและมีราคาที่ถูกเริ่มต้นหลักหมื่นบาท ซึ่งหากรัฐบาลออกมาตรการควบคุมรถยนต์เก่านั้นจะไม่เป็นปัญหากับผู้จำหน่ายรถยนต์มือสองในเขตกรุงเทพฯ
หากรัฐบาลต้องการควบคุมรถยนต์เก่ามองว่าอาจต้องควบคุมรถที่มีอายุ 15-20 ปีขึ้นไปก่อน โดยใช้มาตรการการยกเลิกการจดทะเบียนสำหรับรถที่มีอายุเกิน โดยรัฐบาลต้องเข้ามาเป็นผู้ดูแลจัดการปัญหาอย่างครบวงจร ซึ่งสำหรับผู้ที่เป็นนักสะสมรถยนต์เก่านั้นอาจต้องใช้อัตราการจัดเก็บภาษีพิเศษที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน
“นโยบายทุกอย่างมีข้อดีและข้อเสีย อาจไม่ถูกใจทุกฝ่าย อยากให้รัฐบาลศึกษาผลกระทบและมาตรการรองรับอย่างรอบคอบ เพราะอาจกระทบกับผู้ที่มีรายได้น้อยซึ่งควรให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย” ภิญโญ กล่าว
ความเห็นทั้งหมดนี้อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความครบวงจรอย่างเป็นระบบ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและลดปัญหามลพิษได้ในที่สุด แต่ก็ต้องมองปัญหาอย่างรอบคอบ และมองผลกระทบให้ครบทุกมิติอย่างเป็นธรรม จะต้องเป็นอีกส่วนที่ต้องพิจารณาไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาระยะยาว