ไอเดียBELLE & Sofa รองเท้า‘ผู้ไม่กินเนื้อสัตว์’
โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล
โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล
จากความต้องการจะเพิ่มยอดขายให้กับสินค้าได้มากขึ้น ทำให้ มาซาฮารุ ทาคายามา รุ่น 2 ของกิจการครอบครัวผู้ผลิตและทำตลาดรองเท้าแห่งเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น แบรนด์ “เบลล์ แอนด์ โซฟา” (BELLE & Sofa) ตัดสินใจนำธุรกิจออกนอกประเทศ โดยเลือกไทยเป็นคู่ค้าในการทำตลาดเป็นประเทศแรก ผ่านการจับคู่ทางธุรกิจโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร)
ปัจจุบัน มาซาฮารุดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เบลล์ ผู้ผลิตและทำตลาดรองเท้านวัตกรรมแบรนด์ “เบลล์ แอนด์ โซฟา” (BELLE & Sofa) เล่าจุดเริ่มต้นธุรกิจผู้ผลิตรองเท้าแบรนด์ดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกกว่า 40 ปีก่อน โดยมีคุณพ่อและคุณอาเป็นผู้บุกเบิกกิจการในเมืองโกเบ
โดยในช่วงแรกของการทำตลาดรองเท้าจะใช้ชื่อแบรนด์ “เบลล์” (BELLE) เน้นทำตลาดค้าส่งในเมืองโกเบเป็นหลัก ผ่านช่องทางขายในห้างค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต อิโต โยคาโด (Ito Yokado) ซึ่งมีมากกว่า 500 สาขาในญี่ปุ่น พร้อมปรับตัวการทำตลาดและหันมาสู่การค้าปลีกตั้งแต่ 25 ปีก่อน
จากนั้นกิจการได้ก้าวเข้าสู่การบริหารของมาซาฮารุในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และหันมาให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยตัดสินใจหาวัสดุใหม่ๆ สำหรับทำรองเท้า คือ “ไมโครไฟเบอร์” มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตรองเท้าที่ให้ผู้สวมใส่รู้สึกถึงผิวสัมผัสที่นุ่มสบายเหมือนใช้หนังแท้ๆ มาทำรองเท้า
“มีผู้แนะนำให้บริษัทรู้จักซัพพลายเออร์รายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตหนังหุ้มเบาะให้กับบริษัทรถยนต์ โตโยต้า ซึ่งเห็นว่าวัสดุประเภทนี้มีคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกับหนังแท้มากๆ บริษัทจึงตัดสินใจนำวัตถุดิบดังกล่าวมาใช้ร่วมในการผลิตรองเท้า ในช่วงแรกคืออินโซล แผ่นรองเท้าเพื่อสุขภาพตั้งแต่ 7 ปีก่อน จากนั้นจึงใช้ผลิตเป็นรองเท้าพร้อมปรับชื่อแบรนด์ใหม่เป็น เบลล์ แอนด์ โซฟา เพื่อทำตลาด” มาซาฮารุ เสริม
โดยผลิตสินค้าคอลเลกชั่นแรกภายใต้แบรนด์ เบลล์ แอนด์ โซฟา คือ “Libellees” รองเท้าสวมใส่ลำลองสำหรับผู้หญิง พร้อมกลยุทธ์การทำตลาดออนไลน์ “อี-คอมเมิร์ซ” ผ่านเว็บไซต์ราคุเทน (www.rakuten.co.jp) ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบสินค้า ตั้งแต่การออกแบบ การสวมใส่สบาย ไปจนถึงวัสดุที่ใช้ในการผลิตรองเท้า
พร้อมกล่าวเสริมที่มารองเท้า เบลล์ แอนด์ โซฟา ที่ขยายไปยังกลุ่มเป้าหมายผู้ไม่กินเนื้อสัตว์นั้น ก็ได้มาจากการบอกปากต่อปากของตัวลูกค้าเอง ที่ส่วนใหญ่กว่า 50% จะเป็นลูกค้าต่างชาติ และมีโอกาสมาหาซื้อสินค้าที่หน้าร้านในเมืองโกเบ และสอบถามถึงวัสดุที่ใช้ในการผลิตรองเท้า และเมื่อได้คำตอบว่าไม่ได้ทำจากหนังสัตว์แท้ ซึ่งก็เป็นที่ถูกอกถูกใจมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้รับประทานมังสวิรัติ ที่กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของรองเท้าในปัจจุบัน
นอกจากนี้ บริษัทจะยังใช้วิธีการออกร้านสินค้าแบบชั่วคราวไปยังหัวเมืองสำคัญๆ ด้วย เชื่อว่าหากลูกค้าชื่นชอบแบรนด์ก็จะเดินทางเข้ามาหาเอง โดยไม่จำเป็นต้องขยายสาขาร้านเพิ่มแต่อย่างใด ปัจจุบัน เบลล์ แอนด์ โซฟา จะมีหน้าร้านเพียง 5 สาขาในญี่ปุ่น คือ โอซากา 1 แห่ง โกเบ 3 แห่ง และเกียวโต 1 แห่ง
ส่วนการทำตลาดในไทยนั้น เป็นความร่วมมือระหว่างพันธมิตรธุรกิจ คือ บริษัท ไอ.ซี.ซี. เป็นตัวแทนการทำตลาดและพัฒนาช่องทางขายที่จะรวมไปถึงการทำตลาดออนไลน์ในไทยด้วย โดยเบื้องต้นจะมีหน้าร้าน 1 แห่งในห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยในอนาคตบริษัทวางแผนขยายกำลังการผลิตสินค้าเพิ่ม 20% จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 400-500 คู่/วัน ในประเทศญี่ปุ่น
พร้อมวางเป้าหมายใน 3 ปีจากนี้ จะมียอดขายในไทยไม่ต่ำกว่า 1,000 คู่/เดือน และอาจสร้างโรงงานผลิตรองเท้าในไทย เพื่อขยายการทำตลาดในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วย จากต้นทุนค่าแรงที่ถูกกว่าในญี่ปุ่นที่ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำสำหรับผู้ชายจะอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นเยน/วัน และผู้หญิงอยู่ที่ 8,000 เยน/วัน
กลยุทธ์ธุรกิจ
- มุ่งวัสดุทดแทน
- นำเสนอจุดเด่น
- ขยายฐานลูกค้าใหม่
- ไม่เน้นหน้าร้าน