Quantitative Tightening (QT) คืออะไร?

01 ตุลาคม 2558

Quantitative Tightening (QT) คือ ภาวะที่เงินทุน สำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) ของธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง

Quantitative Tightening (QT) คือ ภาวะที่เงินทุน สำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) ของธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้มักอยู่ในรูปของตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ดังนั้น การลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจึงอาจทำให้เกิดแรงขายในตลาดพันธบัตร และส่งผลให้ อัตราการกู้ยืมทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น และภาวะการเงินตึงตัวขึ้นในที่สุด

ดังนั้น QT จึงอาจส่งผลตรงกันข้ามกับ QE ซึ่งก็คือการที่ธนาคารกลาง “พิมพ์เงิน” และนำไปซื้อสินทรัพย์ในประเทศตน เพื่อเพิ่มปริมาณเงินและกดต้นทุนการกู้ยืมในประเทศให้ต่ำลง ด้วยหวังว่าสภาพคล่องที่สูงและต้นทุนการเงินที่ต่ำ จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน และช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

ทำไมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจึงมีแนวโน้มลดลง?

นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2014 ปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของโลกลดลงราว 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จากจุดสูงสุดที่ประมาณ 12 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 11.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน เนื่องจาก 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่

การแทรกแซงค่าเงินหยวนของจีน ธนาคารกลางจีนประกาศลดค่าเงินหยวนลง 1.9% เมื่อวันที่ 11 ส.ค. และปรับวิธีกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น นับตั้งแต่นั้นมา ทำให้ค่าเงินหยวนผันผวนและมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ทางการจีนจึงทำการแทรกแซงค่าเงินเพื่อควบคุมไม่ให้เงินหยวนอ่อนค่าเร็วเกินไปจนเกิดปัญหาการเงินทุนไหลออก โดยธนาคารกลางจะขายเงินสกุลต่างประเทศ (ดอลลาร์) และซื้อเงินหยวนคืน ทำให้เงินดอลลาร์ในมือของธนาคารกลางลดลง

การชะลอตัวของการค้าโลก การเติบโตของการค้าโลกชะลอตัวลงหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ซึ่งส่งผลให้การส่งออกและ/หรือดุลบัญชีเดินสะพัดของหลายประเทศในเอเชีย เช่น ไทย ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฯลฯ มีแนวโน้มลดลง และทำให้เงินทุนสำรองของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นช้าลงเมื่อเทียบกับช่วงปี 2000-2007 ที่การค้าโลกเติบโตอย่างรวดเร็วท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์

การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2014 ส่งผลให้หลายประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง

ภาวะเงินทุนไหลออกจาก
ตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากแนวโน้มการแข็งค่าของดอลลาร์และการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งทำให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับไปยังสหรัฐ โดยก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2008-2013 ที่สหรัฐมีการทำ QE เพื่อกดดอกเบี้ยให้ต่ำ และส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (Carry Trade) จึงมีการกู้เงินจากสหรัฐ ซึ่งดอกเบี้ยต่ำ มาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงกว่า และค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์ มาจนถึงปัจจุบันที่การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐเริ่มใกล้เข้ามา และค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ เงินทุนเคลื่อนย้ายจึงไหลออกจากตลาดเกิดใหม่กลับไปยังสหรัฐ

การลดการแทรกแซงค่าเงินของธนาคารกลางสวิสและญี่ปุ่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) และธนาคารกลางสวิส (SNB) เคยแทรกแซงค่าเงินในช่วงที่โลกมีวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินของตนเองแข็งค่ามากเกินไป เนื่องจากค่าเงินทั้งสองนับเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Assets) ซึ่งมักแข็งค่าขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก เช่น ในช่วงปี 2011 ที่ยุโรปประสบปัญหาหนี้สาธารณะ ค่าเงินสวิสฟรังก์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเทียบกับยูโร จนทำให้ SNB ต้องประกาศตรึงค่า เงินฟรังก์ และทำให้ทุนสำรองของ SNB เพิ่มขึ้น แต่หลังจากวิกฤตเริ่มคลี่คลาย SNB ก็ประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงิน ทำให้การสะสมทุนสำรองเริ่มทรงตัว ส่วนในญี่ปุ่น BoJ ได้เริ่มใช้มาตรการ QE ในปี 2013 ทำให้ความจำเป็นในการแทรก แซงค่าเงินเยนลดลง

ผลกระทบต่อการลงทุนในระยะสั้นน่าจะมีจำกัด

ธนาคารกลางประเทศต่างๆ มักอยู่ในรูปของการลงทุนใน ตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ดังนั้น การลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจึงอาจส่งผลให้ความต้องการลงทุนในพันธบัตรของโลกลดลง และส่งผลให้ Yield พันธบัตรของประเทศ หลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐที่พันธบัตรจำนวนกว่าครึ่งถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลให้ภาวะการเงินในสหรัฐตึงตัวขึ้นในที่สุด

อย่างไรก็ดี การลดลงของทุนสำรองระหว่างประเทศนั้นอาจไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะสั้นมากนัก เนื่องจากการขายพันธบัตรจากธนาคารกลางไม่ได้ทำให้สภาพคล่องของโลกลดลง เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนมือจากธนาคารกลางไปสู่มือของนักลงทุนประเภทอื่น ซึ่งในที่สุดแล้วก็ต้องนำเงินจำนวนนั้นกลับไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งอยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้นในภาวะปัจจุบันที่ธนาคารกลางทั้งในญี่ปุ่นและยุโรป ยังคงอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สภาพคล่องของโลกจึงยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และกดดัน Yield ในตลาดพันธบัตรให้ไม่ปรับตัวสูงขึ้นจากนี้มากนัก

Thailand Web Stat